24 มีนาคม 2553

‘ROE’ สำคัญกับการลงทุนอย่างไร? - วิบูลย์ พึงประเสริฐ

‘ROE’ สำคัญกับการลงทุนอย่างไร? - วิบูลย์ พึงประเสริฐ

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีหลักการในการลงทุนหลายอย่าง บางท่านอาจจะให้ความสำคัญกับปริมาณการซื้อขายและราคาหุ้นเป็นหลัก โดยใช้หลักการทางเทคนิคเป็นจุดสำคัญ หรือ บางท่านอาจจะชอบลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ซื้อขายวันต่อวัน

การลงทุนในลักษณะดังกล่าว อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องรู้ซึ้งถึงตื้นลึกหนาบางของบริษัทที่จะลงทุนมากนัก สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในระยะสั้นมากกว่า

แต่ “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ที่เน้นการถือหุ้นที่มีศักยภาพในระยะยาว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุนก็คือ การที่นักลงทุนควรจะเข้าใจในพื้นฐานของธุรกิจที่จะลงทุนนั้นเป็นอย่างดี

คราวนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงหัวข้อของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญค่าหนึ่ง ก็คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity Ratio หรือ ROE)

ROE คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่าง ความสามารถในการทำกำไรกับเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ สูตรที่ใช้กันทั่วไปก็คือ

ROE = Net Profit/Equity หรือ กำไรสุทธิ หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น

สมมติ บริษัท ก. มีงบกำไรขาดทุนและงบดุล ณ ปลายปี คร่าวๆดังนี้

งบกำไรขาดทุนบริษัท ก. (หน่วย: ล้านบาท)

ยอดขาย 12,000

ต้นทุนรวมภาษี 10,800

กำไรสุทธิ 1,200

งบดุลบริษัท ก.(หน่วย: ล้านบาท)

ทรัพย์สินหมุนเวียน 2,000 หนี้สินหมุนเวียน 2,000

ทรัพย์สินถาวร 8,000 หนี้สินระยะยาว 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น 8,000

รวมทรัพย์สิน 10,000 รวมหนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น 10,000

ดังนั้น ROE ของบริษัท ก. คำนวณจาก กำไรสุทธิหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเท่ากับ 1,200/8,000 = 15%

ในทางปฏิบัติ ควรจะนำส่วนผู้ถือหุ้นของต้นปีและปลายปีมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความถูกต้องมากขึ้น ROEที่คำนวณได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถนำเงินของผู้ถือหุ้นไปลงทุนได้ผลตอบแทนเท่ากับ 15% จากการดำเนินงานของบริษัทตามปกติ

นักลงทุนสามารถนำ ROE ไปเปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อตรวจสอบความสามารถของผู้บริหารในการบริหารเงินลงทุนของบริษัท

สมมติอีกบริษัทหนึ่ง คือ บริษัท ข. มี ROE เท่ากับ 5% เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ก. ข้างต้นที่มี ROE 15% แล้ว นักลงทุนจะพบว่า บริษัท ก. มีความสามารถในการทำกำไรมากกว่าในจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากัน

สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว บริษัทที่มี ROE สูงกว่าจะน่าสนใจมากกว่า เพราะบริษัทที่มี ROE สูง สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่าบริษัทที่มี ROE ต่ำกว่า

แต่ในขณะเดียวกัน การรักษา ROEให้สูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี ถ้าบริษัทดำเนินกิจการอย่างมีกำไรและเก็บบางส่วนไว้เป็นกำไรสะสม จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรักษา ROE ให้อยู่ในระดับเดิม บริษัทจำเป็นต้องทำกำไรให้มากขึ้นให้เพียงพอต่อการเติบโตของส่วนผู้ถือหุ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นปีละ 10% บริษัทที่ต้องการรักษา ROE ให้เท่าเดิมในปีถัดไป จำเป็นจะต้องมีผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10% ด้วยเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริง ธุรกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ได้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างสูงมากทีเดียว

อีกกรณีหนึ่ง บางบริษัทอาจจะทำให้ ROE สูงขึ้นได้ โดยใช้ leverage จากการกู้ยืมทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีหนี้สินระยะยาว

ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. และ ค. มีงบกำไรสุทธิเหมือนกัน แต่บริษัท ค. มีงบดุลดังต่อไปนี้

งบดุลบริษัท ค. (หน่วย: ล้านบาท)

ทรัพย์สินหมุนเวียน 2,000 หนี้สินหมุนเวียน 500

ทรัพย์สินถาวร 8,000 หนี้สินระยะยาว 4,700

ส่วนของผู้ถือหุ้น 4,800

รวมทรัพย์สิน 10,000 รวมหนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น 10,000

ดังนั้น ROE ของบริษัท ค. เท่ากับ 1,200/4,800 = 25% ซึ่งมากกว่าบริษัท ก. มาก แต่บริษัท ก. ไม่มีหนี้สินเลย ขณะที่บริษัท ข. มีหนี้สินอยู่เกือบเท่าส่วนผู้ถือหุ้น

ในกรณีนี้ เราควรจะใช้อัตราส่วนทางการเงินอีกค่าหนึ่งในการเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจ คือ Return on Total Capital Ratio (ROTC) คำนวณได้จาก

ROTC = Net Profit/(Longterm Liability + Equity) หรือ กำไรสุทธิหารด้วยผลบวกของหนี้สินระยะยาวกับส่วนผู้ถือหุ้น

จากตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าบริษัท ก. มี ROTC เท่ากับ 15% (1,200/8,000) ในขณะที่บริษัท ค. มี ROTC ลดลงเหลือเพียง 12% (1,200/(4,700+4,800))

ในกรณีเช่นนี้ บริษัทที่มี ROE สูงกว่า อาจจะมี ROTC ต่ำกว่าได้ การใช้ ROE เพียงอย่างเดียวในการวิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทที่จะลงทุนอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้

ดังนั้น นักลงทุนนอกจากจะใช้ ROE เปรียบเทียบระหว่างบริษัทแล้ว อาจจะต้องใช้ ROTC ในการเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น เพราะ ROTC จะทำให้มองเห็นภาพความสามารถในการลงทุนของบริษัทได้ตรงความเป็นจริงมากขึ้น

นอกเหนือจากนั้น บางบริษัทอาจจะมี ROE เพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งออกจากหมวดฟื้นฟูกิจการ สาเหตุเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยผลการดำเนินงานเปลี่ยนจากการขาดทุนในอดีตมาเป็นทำกำไรได้ในปีปัจจุบัน ทำให้ ROE เพิ่มสูงขึ้นทันทีได้

ลักษณะเช่นนี้ นักลงทุนควรพิจารณานำกำไรขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ออกจากการคำนวณ เพราะจะทำให้ ROE ที่หาได้สูงเกินไป และไม่สะท้อนกับผลการดำเนินงานตามปกติของบริษัท

บางบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นวัฏจักร (Cyclical) เช่น วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี เหล็ก กระดาษ หรือ ผลิตภัณฑ์การเกษตร บางปีบริษัทจะมีผลกำไรตกต่ำ เพราะส่วนใหญ่แล้วราคาและต้นทุนของกิจการเหล่านั้น จะถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานของสินค้ามากกว่าที่จะถูกกำหนดโดยบริษัท

ถ้าปีใดราคาสินค้าลดลงก็จะทำให้บริษัทมี ROE ในปีนั้นต่ำไปด้วย แต่บางปีอาจจะเป็นขาขึ้นของอุตสาหกรรมนั้นๆ ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานดี และมีกำไรสูงขึ้น ผลพลอยได้ก็คือทำให้ ROE ของบริษัทในปีนั้นสูงตามขึ้นไปด้วย

เราสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทนั้นๆอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรหรือไม่ง่ายๆด้วยการตรวจสอบ ROE ย้อนหลังหลายๆปี ถ้าพบว่า ROE มีลักษณะที่มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไปก็สันนิษฐานได้ว่า บริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักร

จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่า การที่บริษัทมี ROE สูงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีในระยะยาวเสมอไป

ดังนั้น สำหรับนักลงทุน ก่อนที่จะลงทุนซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ควรตรวจสอบ ROE ของบริษัทที่สนใจลงทุนก่อนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

บริษัทที่มี ROE สม่ำเสมอจะเป็นบริษัทที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีการบริหารงานที่ดี สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทก็เพิ่มพูนความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี

from http://www.sarut-homesite.net/roe-สำคัญกับการลงทุนอย่าง


เส้นทางความมั่งคั่ง ของ "บัฟเฟตต์" โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เส้นทางความมั่งคั่ง ของ "บัฟเฟตต์" โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ตำนานความมั่งคั่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์ นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้นๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก "ธุรกิจ" เขาเป็นแค่ "นักลงทุน" มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่มๆ จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่า พวกเขาสามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด "อาชีพ" การเป็น "นักลงทุน" ตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ แต่นี่เป็นหนทางของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงิน 47,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร

พูดถึง "เงินเริ่มต้น" ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม "ตำนาน" บอกว่าบัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 100 ดอลลาร์ หรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี "รายได้อื่น" เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไร ผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจมีเงินวันนี้สัก 50-60 ล้านดอลลาร์ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ข้อเท็จจริง คือ ช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเอง น่าจะเป็น "รายได้ส่วนน้อย" รายได้สำคัญ น่าจะเป็น "รายได้อื่น" ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นคือ เป็นรายได้จากการ "รับจ้างลงทุน" คือ ส่วนแบ่ง 25% ของกำไร ที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อยๆ และทำให้เงินส่วนของตนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านดอลลาร์ เมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ "บทที่หนึ่ง" ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์

บทที่สองของบัฟเฟตต์ คือ การลงทุนอย่างเดียว คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุน และคืนเงินให้คนที่มาให้บริหาร ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุด และกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี ช่วง 10 ปีนับจากปี 1969-1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านดอลลาร์ ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะยากลำบากมาก เพราะเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึงสองช่วงคือ ในปี 1969-1971 และช่วง 1973-1974 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรง เพราะภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนตลาดช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์ กลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ "เอาตัวรอด" ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์

ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนอย่างเดียวของบัฟเฟตต์ คือช่วงปี 1979-1989 เป็นช่วง "ฟื้นตัว" ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 1989

ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 เป็นช่วงตลาดหุ้นอเมริกาบูมมาก และเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์ ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่ง คือ ช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเทค และหุ้นเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งบัฟเฟตต์ไม่ยอมลงทุน ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนรวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านดอลลาร์ เขากลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา

ช่วงสิบปีสุดท้าย ตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 เป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเทอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์ ก็ยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงส์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเทค จึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด 8.6% ถึงแม้จะยังสูง แต่ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจเป็นผลจากพอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมาก จนการทำผลตอบแทนสูงมาก จึงทำได้ยากขึ้น

ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนอย่างเดียว ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งดอลลาร์ กลายเป็น 2,362 ดอลลาร์ ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ 7.24%ต่อปี เงินหนึ่งดอลลาร์กลายเป็น 16.4 ดอลลาร์ ผลต่าง 14.19% ต่อปี จึงเป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะเม็ดเงินมหาศาลของบัฟเฟตต์

การ "เดินทาง" ของบัฟเฟตต์ เป็นเส้นทางที่ "ขีดเขียน" ขึ้นด้วยฝีมือและ แน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก "ขีดเขียน" ขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทย เพิ่ง "เริ่มเดินทาง" หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริง ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมากๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่กรณีของบัฟเฟตต์

from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100323/106377/เส้นทางความมั่งคั่ง-ของ-บัฟเฟตต์.html


21 มีนาคม 2553

ซื้อหุ้นต้องมอง Downside ก่อนกำไร - บัฟเฟต

ซื้อหุ้นต้องมอง Downside ก่อนกำไร - บัฟเฟต


ผมว่าถ้าเรามองหุ้นเหมือนสิ่งที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปมา และเมื่อคุณเริ่มใช้กราฟเทคนิคนั่นแสดงว่าคุณเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นต่อไปนี้เป็นคำถามต่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ในการให้สัมภาษณ์สถานี CNBC ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา


ถาม: คำถามจากผู้ชมทางบ้านจากรัฐอิลลินอยส์ถามว่า ปกติคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่ในไตรมาส 3 ปี 2552 คุณซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซอนโมบิล และขายหุ้นบริษัทนี้ไปในไตรมาสถัดมา อะไรทำให้คุณเปลี่ยนใจได้เร็วขนาดนั้น

บัฟเฟตต์: บางครั้งเมื่อเราเริ่มซื้อหรือลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งและเราไม่สามารถซื้อหุ้นบริษัทนั้นได้ตามจำนวนที่เราต้องการ รวมทั้งเราต้องการใช้เงินจำนวนมากในการเข้าซื้อบริษัทเบอร์ลิงตัน ทั้งบริษัท ทำให้เราต้องขายหุ้นออกไปบางส่วนโดยเฉพาะในหุ้นที่เราถือเป็นจำนวนไม่มากอย่างบริษัทเอ็กซอนโมบิล

ถาม: คุณอ่านรายงานประจำปีของบริษัทต่างๆ ปีละกี่เล่ม

บัฟเฟตต์: อาจจะเป็นร้อยนะ ผมเพิ่งอ่านรายงานประจำปีของบริษัท เอไอจี (AIG) จบ ความหนาประมาณ 550 หน้า ผมอ่านรายงานประจำปีเยอะมาก

ถาม: คุณพูดเสมอว่า "ให้โลภเมื่อคนอื่นกลัว และให้กลัวเมื่อคนอื่นโลภ" ถามว่าคุณโลภหรือกลัวสำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้นในตอนนี้

บัฟเฟตต์: ปกติผมมักเริ่มต้นจากความกลัวก่อน เมื่อผมเห็นโอกาสในการลงทุนผมถึงเริ่มค่อยๆ โลภ แต่อย่างไรก็ตามผมมักมองถึงผลลบ (Downside) ของการลงทุนนั้นก่อนเสมอ หมายความว่าถ้าคุณไม่ขาดทุน คุณก็สามารถทำกำไรได้ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราทำผลตอบแทนได้ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมเรียนรู้จากเบนจามิน เกรแฮม ตั้งแต่ผมอายุได้ราวๆ 20 ปี ในช่วงสิบปีแรกของการลงทุนเป็นช่วงที่ดีที่สุดของผม เพราะในช่วงนั้นเราไม่ขาดทุนเลยสักปีเดียว ตอนนี้ราคาหุ้นเบิร์กไชร์อาจลดลงถึง 50% และมันเกิดขึ้นถึง 4 ครั้งตั้งแต่เราเข้าเป็นเจ้าของบริษัท เราอาจขาดทุนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วเราไม่ขาดทุนอย่างถาวรแน่นอน ผมมองผลลบของการลงทุนก่อนเสมอ

ถาม: คุณคิดว่าในตลาดตอนนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่โลภหรือกลัว

บัฟเฟตต์: ถ้าคุณลงทุน คุณควรลงทุนระยะยาว ในระยะยาวแล้ว ผมชอบที่จะถือหุ้นมากกว่าลงทุนในสินทรัพย์ราคาคงที่ (Fixed-dollar investment) หรือเข้าๆ ออกๆ ตลาดหุ้น

ถาม: คุณคิดว่าผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใช้กลยุทธ์ขายหุ้นแล้วซื้อคืน (Shorting) จะใช้กลยุทธ์เดิมไม่ได้ในอนาคต เมื่อกฎใหม่ของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐออกมาเรื่องการกำหนดราคาช็อตหุ้นหรือไม่

บัฟเฟตต์: การขายหุ้นแล้วซื้อคืน (Shorting) ไม่ใช่การลงทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำเงินจากวิธีการนี้ไม่ได้ ในฐานะนักลงทุน คุณควรมองการลงทุนบนความคิดที่ว่าถ้าตลาดหุ้นปิดไปสักสองสามปี คุณยังมีความสุขอยู่ได้และพอใจกับผลประกอบการของธุรกิจที่คุณลงทุน

ถาม: คุณคิดว่าคุณเรียนรู้อะไรจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้

บัฟเฟตต์: สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้เหมือนกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากหนังสือ "นักลงทุนที่ชาญฉลาด" (The Intelligent Investor) ของเกรแฮม หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 1949 ให้คุณอ่านบทที่ 8 ถึง 20 ที่บอกว่าเวลาลงทุนให้คุณซื้อหุ้นเหมือนซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ถ้าคุณซื้อธุรกิจที่ดีในราคาที่สมเหตุสมผลและถือมันไว้ คุณก็ไม่มีปัญหา ผมว่าถ้าเรามองหุ้นเหมือนสิ่งที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปมาและเมื่อคุณเริ่มใช้กราฟนั่นแสดงว่าคุณเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น ผมแนะนำให้ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ดีราคาเหมาะสม ซื้อธุรกิจที่คุณเข้าใจและสามารถถือลืมไปได้หลายๆ ปี

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/viboon/20100321/106025/ซื้อหุ้นต้องมอง-Downside-ก่อนกำไร.html


ข้อผิดพลาดของบัฟเฟตต์

ข้อผิดพลาดของบัฟเฟตต์


ทุกคนอาจคิดว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นนักลงทุนระดับ "เทพ" ที่ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด ในความเป็นจริงนักลงทุนระดับตำนานรายนี้ เคยลงทุนผิดพลาดหลายครั้งและทุกครั้งเขามักบอกผู้ถือหุ้นเบิร์กไชน์ของเขาเสมอในรายงานประจำปีว่าเขาทำอะไรโง่ๆ ลงไปบ้าง เรามาดูกันว่าเขาทำอะไรผิดพลาดบ้าง

อันดับแรก การลงทุนในบริษัท โคโนโค ฟิลิปส์ (Conoco Phillips) ในปี 2008 บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นบริษัทนี้เป็นจำนวนมาก เขาคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะนั้นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เวลาได้พิสูจน์ว่าบัฟเฟตต์คิดผิด หลังเกิดวิกฤติซับไพร์มราคาน้ำมันลดลงจาก 150 เหรียญ เหลือเพียง 30 เหรียญราคาหุ้นบริษัทน้ำมันทั่วโลกลดลงอย่างมาก โคโนโค ฟิลิปส์ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นบัฟเฟตต์ต้องขายหุ้นบริษัทนี้ออกไปเพื่อนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอื่น เช่น การซื้อหุ้นกู้ของจีอี การลงทุนครั้งนั้นทำให้เบิร์กไชน์ขาดทุนไปถึง 3 พันล้านเหรียญ (กว่า 1 แสนล้านบาท) ข้อผิดพลาดของบัฟเฟตต์ครั้งนี้ ชี้ว่าการเห็นราคาหุ้นหรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นมากๆ อย่างรวดเร็ว อาจทำให้นักลงทุนอดใจไม่ได้เพราะกลัว "ตกรถ" โดยหารู้ไม่ว่ารถคันนั้นอาจถอยหลังมาทับคนที่ตามขึ้นไปทีหลังเมื่อไหร่ก็ได้ นักลงทุนที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนให้อยู่เหนือฝูงชนได้จะมีความได้เปรียบในสถานการณ์เช่นนี้

อันดับสอง การลงทุนในสายการบินยูเอสแอร์ (U.S. Air) บัฟเฟตต์เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิในปี 1989 เนื่องจากผลตอบแทนของเงินปันผลที่สูงรวมทั้งการเติบโตที่ดีของรายได้และกำไรของสายการบินในช่วงที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดการลงทุนในยูเอสแอร์กลายเป็นฝันร้าย เมื่อบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้แม้กระทั่งหุ้นบุริมสิทธิที่บัฟเฟตต์ถืออยู่ สุดท้ายแม้จะขายหุ้นที่มีอยู่ออกไปได้หลังจากพยายามขายอยู่นาน แต่ก็ทำให้เขาขยาดหุ้นสายการบินไปอีกนาน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้ว่าการลงทุนกับบริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงอย่างสายการบินซึ่งต้องใช้เงินซื้อเครื่องบินใหม่ๆ มาเพื่อขยายเส้นทางบิน เมื่อเงินสดไม่พอต้องกู้เงินมาลงทุน สุดท้ายผู้ถือหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการขยายตัวของรายได้และกำไรเลย

อันดับสาม การลงทุนในบริษัท เดกเตอร์ ชูวร์ (Dexter Shoes) ในปี 1993 ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่ในอเมริกาโดยการแลกหุ้นกับบริษัทเบิร์กไชน์ในเวลานั้น หลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่ปี ธุรกิจรองเท้าของบริษัทเดกเตอร์ ชูวร์ถูกสินค้าที่ผลิตจากจีนและประเทศอื่นๆ เข้ามาแย่งตลาดเนื่องจากสินค้าของบริษัทไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน (Competitive Advantage) ทำให้ถูกแย่งลูกค้าไปได้อย่างง่ายดาย สำหรับการลงทุนในบริษัทนี้ บัฟเฟตต์ประเมินความเสียหายจากราคาหุ้นของเบิร์กไชน์ที่ใช้ในการเข้าซื้อหุ้นของเดกเตอร์ชูวร์ไว้ที่ $3.5 พันล้านเหรียญ (กว่า 1 แสนล้านบาท) สิ่งที่เขาเรียนรู้จากข้อผิดพลาดครั้งนั้นคือการซื้อธุรกิจที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ถึงแม้บริษัทจะไปได้ดีในระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วธุรกิจจะไม่สามารถรักษาอัตรากำไรที่สูงเช่นเดิมได้ คู่แข่งจะค่อยๆ เข้ามาในตลาดเนื่องจากความน่าดึงดูดในการเติบโตของรายได้และกำไรของอุตสาหกรรมนั้นๆ ในช่วงหลังๆ บัฟเฟตต์จะเลือกซื้อหุ้นในธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโคคา-โคลา วอลมาร์ท หรือยิลเลตต์ เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนทั่วไปจะเห็นว่าแม้แต่นักลงทุนระดับ "เทพ" อย่างบัฟเฟตต์ยังลงทุนผิดพลาดได้ ดังนั้นไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาดในตลาดหุ้น เพียงแต่ข้อแตกต่างระหว่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จกับล้มเหลวอยู่ที่การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นแล้วเริ่มต้นใหม่แทนที่จะถอดใจโทษตัวเองแล้วออกจากตลาดหุ้นไป หรือไม่ก็ทำผิดพลาดเช่นเดิมซ้ำๆ อยู่ตลอดเวลา

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/viboon/20100301/103353/ข้อผิดพลาดของบัฟเฟตต์.html


บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์

บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์



ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีเมื่อปีที่แล้ว นิตยสารฟอร์บส์เลื่อน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขึ้นมาเป็นหมายเลข 1 แทน บิล เกตส์ ซึ่งรั้งตำแหน่งนั้นอยู่ 13 ปี มหาเศรษฐีในยุคนี้มักอาศัยพลังของคลื่นเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความร่ำรวยเช่นเดียวกับบิล เกตส์ หรือไม่ก็ใช้การเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินเช่นเดียวกับจอร์จ โซรอส แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ อายุ 78 ปีแล้ว และเริ่มก่อร่างสร้างตัวมาก่อนเทคโนโลยีดิจิทัลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดคลื่นลูกที่ 3 (คลื่นลูกที่ 1 เกิดหลังการค้นพบวิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เมื่อราว 10,000 ปีก่อนซึ่งนำไปสู่ยุคเกษตรกรรม คลื่นลูกที่ 2 เกิดหลังการค้นพบเครื่องจักรกลเมื่อราว 300 ปีที่แล้วซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนั้น เขายังต่อต้านการเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินแบบจอร์จ โซรอส อีกด้วย

บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้ว และเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่าง รวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัท มาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็น 75,000 ดอลลาร์ ในเวลา 40 ปี

มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว มีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball : Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนี้มีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้น มีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett : Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไป และยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่างๆ ขอนำมาเล่าสู่กัน เพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง



ข้อแรก จงเป็นผู้มัธยัสถ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย อาทิเช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้น เวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิเช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก

ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคม ยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง กิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ และพยายามจำกัดค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น



ข้อสอง จงยึดหลักช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้น จากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุ อาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้นในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์ และด้านการขนส่งทางรถไฟ



ข้อสาม จงเดินทวนกระแส บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้ว เขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้าม เนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐาน ก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่างๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น



ข้อสี่ จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี่ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น



ข้อห้า จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง



ข้อหก จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา "มูลค่าภายใน" (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้ายๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมากๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" (margin of safety) สูงมาก

บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มากๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปี เพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่างๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์



ข้อเจ็ด จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดี และมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมาก อาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟ เพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก



ข้อแปด จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" สูงมากๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น



ข้อเก้า จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อยๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละ 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท



ข้อสิบ จงเชื่อมั่นในอเมริกา บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้าเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว



from:

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sawai/20090213/15605/บัญญัติ-10-ประการของวอร์เรน-บัฟเฟตต์-(1).html

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sawai/20090220/17850/บัญญัติ-10-ประการของวอร์เรน-บัฟเฟตต์-(จบ).html


20 มีนาคม 2553

เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ - อ้อม สุนิสา



เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ - อ้อม สุนิสา


บทเธอคว้ากระโปรงสายเดี่ยว หรือเกาะอกออกมาสวมกาย อ้อม สุนิสา ก็ดูเป็นผู้หญิงหวาน บทจะตัดผมสั้นทะมัดทะแมง เธอก็แฝงบทสาวห้าวได้เนียน

มันก็เลยกลายเป็นเรื่องชวนคิ้วขมวด เมื่ออ้อมตัดสินใจโกนผมห่มผ้าขาวบวชชีรักษาศีลที่เสถียรธรรมสถานนานนับเดือน และยากจะหุบปากมิเอ่ยถามว่า อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ วานนี้ กับวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร นี่คือบทสนทนากับเวลาเพียงครู่ยามที่ "กายใจ" ได้รู้จัก และสัมผัสกับความคิดของเธอ

- คุณมองเรื่องการบวชของผู้หญิงอย่างไร

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงจะบวช แต่อาจไม่ค่อยเห็นกัน ต่างจากการบวชพระที่เป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่เกิดขึ้นมานาน เหมือนประเพณีบางอย่าง เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว อย่างที่เราได้เรียนรู้ว่า ผู้สืบสานธรรมะของพระพุทธองค์ที่เขาเรียกว่าอุบาสก อุบาสิกา ก็เหมือนกัน ชีก็เหมือนกับอุบาสิกา เพียงแต่รูปแบบของการถือศีล หรือการแต่งตัวแตกต่างกัน ถือศีลน้อยกว่าพระ แต่กรณีของอ้อมบวช อ้อมถือศีลเท่ากับเณร

- คิดมาก่อนหรือเปล่าว่าจะบวชชี

คิดค่ะ คิดมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ อ้อมเชื่อว่า เรื่องของการบวช มันคือเรื่องของการตัด ตัดใจ ตัดทิ้ง ตัดแล้วก็วางในสิ่งที่คุณยึดถืออยู่ในปัจจุบันในฐานะฆราวาส เพื่อไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง ตัดแล้วซึ่งการเป็นฆราวาส

- แต่ดูเหมือนว่า คุณปุบปับออกบวชเลย

ความจริงบวชเมื่อไรก็ได้นะคะ บวชเมื่อไรก็ได้ แต่ตัดได้เมื่อไรมากกว่า อ้อมเชื่อว่าหลายคนพร้อมบวช ทุกคนพร้อม แต่พอถึงขั้นต่อมา แล้วตัดได้หรือยัง ตัดเพื่อที่จะบวชได้หรือยัง พร้อมส่วนพร้อม แต่ถ้าพร้อมจริงต้องตัดแล้วไปเลย

ตัดในความหมายของอ้อม คือตัดทิ้งทุกอย่างที่อยู่กับเราทั้งหมด ทุกอย่างที่ข้างตัวเรา สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเพื่อจะก้าวไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าการตัดครั้งนี้เป็นการตัดที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นการตัดแค่ช่วงหนึ่งสำหรับคนบวชระยะสั้นอย่างอ้อม เป็นการแค่ลองตัดช่วงหนึ่ง ซึ่งถือเป็นขั้นของผู้เริ่มต้นมาก เพราะคนที่บวชตลอดชีวิต เขาต้องคิดแล้วว่า ต้องตัดทิ้งทั้งหมด

- จำเป็นไหมว่า ถ้าต้องการตัด ก็ต้องออกบวช

เราต้องแยกก่อน คนบางคนไม่ได้ถือบวช ไม่ได้ถือศีลมากมายหลายข้อ แต่ถือศีล 5 ครบ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีสัมมาทิฐิ สัมมาวาจา ไม่ทำร้ายจิตใจใคร ทุกอย่างอยู่ในครรลองของการทำดีประพฤติดี ตั้งใจมั่นในการถือศีล คนนั้นอาจเป็นคนที่บรรลุ หรือเข้าใจหลักธรรมได้ดีกว่าก็ได้

การถือบวชชี หรืออยู่ในโลกฆราวาสก็ตาม สามารถรักษาศีลได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องยอมรับในความต่าง โลกภายนอกมันอาจทำให้เราวุ่นวาย พร้อมให้เราผิดพลาดผิดศีลได้ง่าย แต่พอเป็นนักบวชจะมีวินัย หรือเรื่องราวต่างๆ อีกรูปแบบหนึ่ง ถูกฝึกสอนในอีกแบบหนึ่ง เรื่องราวที่พูดสนทนากันก็เป็นอีกแบบ

การอยู่ในเพศนักบวช เราไม่พูดเพ้อเจ้อ เราไม่ส่งจิตออกนอก มันก็อยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ ใช่ไหมคะ สิ่งที่คุยกันมันเป็นเรื่องของชีวิตตรงนั้น หลักธรรมะที่เรียน หรือการสวดมนต์ มีเวลาไปปฏิบัตินั่งสมาธิ ต้องยอมรับว่า มันอาจเป็นหนทางลัดไปสู่นิพพาน หรือการบรรลุ เพราะเรื่องอื่นที่มาประกอบกันมันอาจไม่เหมือนกับทางโลก

- ถ้าอย่างนั้น หัวใจของการออกบวชของอ้อม คืออะไร

สำหรับอ้อม บางคนอาจสับสวิตช์โดยไม่ต้องบวช แต่อาจสะพายเป้ไปเที่ยว อย่างน้อยเขาก็ได้อยู่กับตัวเองเหมือนกัน มันไม่แปลก มันอยู่ที่วิถีและวิธี ถ้าเขาได้อยู่กับตัวเอง ใจเขานิ่ง เขาได้เรียนรู้ตัวเอง อันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่เป้าหมายมันอาจต่างกัน การได้อยู่กับตัวเองโดยมีธรรมะเป็นเครื่องนำพา และไปศึกษาพระธรรม เพื่อดูใจตัวเองให้วันหนึ่งไปถึงจุดหมายวันนั้น มันอาจจะแตกต่างกันตรงนี้

- คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าที่บวชชีเพราะต้องการเปลี่ยนตัวเอง อะไรที่อยากเปลี่ยน และเปลี่ยนได้ไหม

อ้อมว่าคนเราหากอยากเปลี่ยนตัวเอง ต้องเปลี่ยนในสิ่งไม่ดี ในเรื่องที่ทำให้คนอื่นเสียใจ กระทบ หรือตัวเราเองรู้ว่ามันเป็นอนุสัยที่ไม่ดี เราก็อยากเปลี่ยน บางทีคนเราอาจต้องหาตัวเองให้เจอว่า "จริงๆ แล้วเราเป็นคนยังไง จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน"

เคยมีพระท่านหนึ่ง ถามอ้อมว่า "จริงๆ แล้วอ้อมเป็นคนแบบไหน" ให้เราพิจารณาดูตัวเอง แล้วท่านก็พูดว่า "คนบางคนทั้งชีวิตยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน" พออ้อมตอบกลับไปว่า "อ้อมเป็นคนอารมณ์ร้อน" ท่านก็บอกว่า "นั่นไม่ใช่คำตอบ"

ในมุมของอ้อม ถ้าเราทันอารมณ์เรา และมองไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ มันจะค่อยๆ ออกมา อาจจะยังไม่เห็น หรืออาจจะเห็น ทุกวันนี้อ้อมยังต้องค่อยๆ ดูไปว่าเราเป็นคนแบบไหน ถ้าเราเจอมันเราอาจใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

- จำเป็นต้องนิ่งไหมเพื่อค้นหาตัวเอง

บางครั้งการเกิดปัญญามันต้องมาพร้อมกับปัญหาก็ได้ อยู่ที่ว่าเราเลือกเรียนรู้ปัญหาจากมุมไหน ถ้าเราจมอยู่กับปัญหา และเราคิดว่ามันเป็นปัญหาแล้วโทษคนอื่น ตีอกชกตัว ไม่ให้เวลาทำให้ทุกอย่างคลี่คลายและใช้ปัญญามอง หรือไม่มองมันให้เกิดปัญญา ไม่มองด้วยปัญญา ก็อาจจะไม่รู้จักตัวเอง

- ระหว่างที่บวชอยู่เสถียรธรรมสถาน อะไรที่คุณรู้สึกว่าขัดเกลาตัวเองได้ยากที่สุด

ใจค่ะ ใจ กับความคิด อ้อมว่า คนเราจะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ มีความสุขไม่มีความสุขอยู่ที่คิดอยู่ที่ใจ ที่สำคัญที่สุดต้องมีสติเป็นตัวรู้ มีสติก็ต้องรู้ทัน และอะไรทำให้สติเราเกิด มันก็ต้องตั้งใจดู เดือนเดียวมันไม่ทำให้คนเปลี่ยนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราเป็นอย่างนี้มาตั้งนาน เหมือนถ้าเราพลิกฝ่ามือมันง่ายใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราค่อยๆ พลิก

เปรียบเสมือนกับว่า มือเราหงายมาแบบนี้ 35 ปี เราจะเปลี่ยนให้มันคว่ำ ถ้าใช้เวลา 35 ปีในการหงาย แสดงว่าสัดส่วนของการที่มันจะหงายได้ มันต้องช้ามาก มันคงต้องค่อยๆ พลิก อย่างน้อยเราได้เรียนรู้แล้วว่า เราต้องพลิกมัน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ดีกว่าเราไม่ได้เริ่มเลย

- พอเราเดินออกจากทางธรรมแล้ว กลัวไหมว่าคนจะคาดหวังสูง

มีคนคาดหวังเยอะ แรกๆ มีกลัวด้วย คือกังวลว่าไม่อยากให้คนคาดหวังว่าจะต้องดี จะต้องเปลี่ยน จะต้องนั่นนี่ กลัวไปว่าเขาจะไปโทษว่าธรรมะไม่ได้ช่วยขัดเกลา พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอะไร ขณะที่คิดอย่างนั้นล่ะคะ บางอย่างก็สอนให้เรารู้ว่า เรากำลังกังวลกับอนาคตจนเกินไป ทุกข์เราก็เกิด

เพราะฉะนั้นเราก็อยู่กับปัจจุบันดีกว่า เราไปห้ามใจคนไม่ได้ เหมือนที่พระท่าน ครูบาอาจารย์ท่านสอน มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญก็ต้องมีคนนินทา มีคนเข้าใจเราก็อาจมีคนไม่เข้าใจเรา เราห้ามใจเขาไม่ได้ ที่สำคัญคือใจเรามากกว่า

- แล้วตั้งรับกับมันอย่างไร

เราก็ทำให้เต็มที่ และยิ่งถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่อยากให้เสื่อมเสีย มันก็เป็นตัวเตือนสติเราให้ทำกิริยาให้ดี ทั้งหมดทั้งสิ้นมันต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราเป็นคนปกติ รักโลภ โกรธ หลง ก็ยังคงอยู่ ไหนจะนิสัยที่มันฝังรากอยู่มันก็ไม่ใช่ว่าน้อย ต้องยอมรับ เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 14 เรายังต้องกลับมาอยู่กับเรื่องเดิมๆ ความเร็วเดิมๆ

บางครั้งความเร็วที่มันเดิมๆ เราอาจจะต้องเดินให้มันช้าลงเพื่อจะได้เห็นชัดขึ้น มันก็ถึงจุดหมายเหมือนกันมั้ง? แต่เมื่อเราเดินช้า เดินสบายตัว เราอาจจะมีจังหวะเดินได้เร็วขึ้นอีก และเร็วมากก็ได้ ทุกอย่างอ้อมว่ามันอาศัยจังหวะนะคะ มันไม่ได้บอกว่าต้องเดินช้าและถูก เดินเร็วแล้วไม่ถูก หรือเดินเร็วแล้วถูก เดินช้าผิด อ้อมว่า ศิลปะในการใช้ชีวิต มันคือรู้ว่าจังหวะไหนควรทำอะไร อย่างไร

- อ้อมมีแม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ แต่วิธีคิดเลขของอ้อมกับของแม่ต่างกัน

คุณแม่มีวิธีคิดที่เป็นขั้นเป็นตอนกว่า อ้อมมีวิธีคิดแบบอ้อมเอง คิดในใจ และเร็วกว่า แต่ผลออกมาเหมือนกันคือทำเลขถูก

วิธีการทำเลขของแม่กับอ้อมต่างกัน ความที่แม่เป็นครู การทำเลขของแม่ต้องทำเลขให้ถูกต้อง แต่สำหรับอ้อมซึ่งเป็นนักเรียน และต้องทำแข่งกับโจทย์ และทำโจทย์ให้แข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นอ้อมจะเอาความถูกต้อง วิธีทำช่างมันเพราะมีวิธีคิดของอ้อมเอง แต่นำพามาซึ่งคำตอบได้เหมือนกัน

ข้อที่แม่สอน คือการที่ทำวิธีถูก และจดไว้เป็นระบบระเบียบ สิ่งที่ได้คือ ถ้าคำตอบนั้นผิด หรือเรามีเวลาทวนคำตอบ เราจะรู้เลยว่า ข้อผิดของเราอยู่ตรงไหน กระทั่งการทดเลขต้องเขียนให้ชัด บางอย่างที่เราทำด้วยความเคยชิน เราจะไม่รู้เลยว่าเราผิดพลาดตรงไหน

- แล้วมันใช้กับชีวิตปัจจุบันได้ไหม

ใช้ได้ค่ะ ใช้ได้ คือทุกเรื่อง มันขึ้นอยู่กับว่าเราประยุกต์ใช้กับชีวิตแบบไหน มันจะทำให้เรารู้เลยว่า เราสามารถมองย้อนไปเป็นสเต็ปได้

- อ้อมใช้ชีวิตมีแบบแผนแค่ไหน

บางเรื่องอ้อมก็ปล่อยมันไป เราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนที่วางแผนชีวิตดีตลอดเวลาได้ทุกเรื่อง ครบทุกอย่าง บางทีก็ปล่อยมันเป็นไปตามวาระของมัน เพียงแต่ว่าเวลาเราทำงานเราจะวางแผนว่า วันนี้เราจะทำเรื่องนี้ จัดรายการวิทยุ 4 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง เราจะพูดเรื่องนี้โดยประมาณ ทำการบ้านมาตอนกลางคืน จะโยงไว้ก่อนว่าจากเรื่องนี้จะพูดเรื่องนี้ หรือบางทีอาจจะรู้คร่าวๆ ว่า จะจบเรื่องตรงไหน

มีเป้าหมาย แล้วกำหนดให้ไปถึง ไม่ต้องให้ยาวมาก อะไรที่เตรียมยาวมากมันอาจจะกระท่อนกระแท่นก็ได้

- ถ้าตอนอายุ 14 ปี ไม่มีใครดึงเข้ามาวงการบันเทิง คิดว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร

ก็นั่นสิคะ วันก่อนขับรถอยู่ เห็นคนหอบของรุงรังออกจากโรงพยาบาลเรียกแท็กซี่ ยังคิดเลยว่า ชีวิตอ้อมสบาย วันนี้ เราอาจเหมือนเป็นคนให้กำลังใจคนอื่นได้ เป็นพลังให้คนอื่นได้ มันก็มาจากเพราะเรายังมีอะไรที่สบายกว่าคนอื่นนั่นเอง มันทำให้นึกออกว่า เราพอที่จะทำประโยชน์อะไรได้บ้างก็ทำไปเหอะ น้อยที่สุดในแง่ของจิตใจ ให้กำลังใจคนได้ก็ให้ไป

อ้อมจัดคลื่น 94 เอฟเอ็ม Great Gossip Great Music เรียกว่าเป็นคลื่นบันเทิงเต็มตัว คุยเกี่ยวกับเรื่องดารา นักร้อง แต่อ้อมเอาบันเทิงให้มาเกี่ยวพันกับชีวิตจริงของคน ให้เขาเห็นว่าชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับละคร เอาละครเป็นตัวอย่าง แล้วเราจะปรับใช้แง่คิดบางอย่างที่เราจะไม่ทำตามละครที่เป็นข้อผิดพลาด หรือละครสอนอะไรให้ดี เราก็เอามาใช้

ชีวิตตอนเด็กลำบากไหม

มันมีทั้งช่วงลำบาก และช่วงที่ดีค่ะ เพราะบังเอิญแม่เป็นครูที่ทำอาชีพอื่นเสริมด้วย แต่มันก็มีช่วงลำบากที่ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นมันได้เห็นจริงๆ ทั้งความสบายและความลำบาก ได้เห็นทั้งหมดในช่วงเวลาสั้นๆ และได้เห็นว่าทุกอย่างมันอยู่ที่การกระทำของเรา แม่ขยันเราก็ฟื้นเร็ว แม่ล้มแม่ก็ฟุบ แต่แม่ก็ฟื้นได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นคนกลัวมาก กลัวการเป็นหนี้ แต่ฟุบไม่กลัวหรอก

การเป็นหนี้มันทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ ทำงานหามาได้เท่าไร ปัจจุบันยังไม่ทันคิดต้องเอาไปโปะอดีตก่อน แล้วไปแอดวานซ์เงินอนาคต ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล ควรมีเงินที่พอ เมื่อมีเงินพอ เขาจะไม่เหนื่อยกายไม่เหนื่อยใจ เขาจะมีแรงในใจที่จะทำให้กายเขาเคลื่อนไหว ดูแลคนในสังคมให้ดี

- อาหารการกินอยู่ตอนบวชเป็นอย่างไร

มื้อแรก เป็นน้ำเต้าหู้ น้ำฟักทอง ผลไม้รวม แต่มันทำให้เราเห็นว่า เราควรกินในสิ่งที่ร่างกายต้องการ จะมังสวิรัติหรือไม่ก็แล้วแต่ มีก็กิน กินให้อิ่มพอ ถ้าเราไม่ยึดติดอะไรกับมัน ร่างกายจะบอกกับเราเอง สังขารจะบอกว่า อิ่มและพอ เราต้องดูดีๆ นะว่า อยากกิน หรือร่างกายต้องการ ความอยาก มันทำให้เราน้ำหนักเกิน พอได้กลิ่นแตะจมูกเข้า โอ๊ย หอมจังเลย แต่ดูนะ ไอ้ที่หอมๆ มันไม่ค่อยมีประโยชน์เลย

- ดูเหมือนคุณจะเตรียมพร้อมมาก่อนบวช

คือถ้าบวชเพราะถ้าถูกบังคับ หรือบวชสักแต่ว่าบวชอาจรู้สึกอึดอัดวินัยปฏิบัติเยอะ แต่ถ้าเราทำอะไรสักอย่างแบบตั้งใจเดินไป ใจเราเปิด พอใจเปิดอะไรก็ได้ไปหมดแหละค่ะ เหมือนเราชอบใครสักคน ใจเราเปิด เขาทำอะไรก็ดีหมด แต่ไม่ใช่ว่าเปิดอย่างไม่มีสตินะคะ ต้องเปิดอย่างมีสติด้วย

- ช่วงบวชที่เสถียรธรรมสถาน มีวัตรปฏิบัติอะไรบ้าง ใครเป็นผู้สอน

ตอนอยู่ที่เสถียรฯ การเรียนการสอนเกิดได้ทุกอณูเลย เอาที่เห็นชัดๆ บทสวดมนต์ก็เป็นการสอน ใครที่สวดมนต์ก็ลองอ่านคำแปลดูนะคะ คำแปลจะบอกสัจธรรมของชีวิตที่เราปฏิเสธไม่ได้ ค่อยพิจารณาดู อ้อมพิจารณาดูแล้วและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เบื้องต้นอาจปฏิเสธกันก่อน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อ ต้องพิสูจน์

เวลาทำวัตรเย็นก็มีบทสวดหลายบท คุณแม่ศันสนีย์จะสอนว่าบทสวดมนต์สอนอะไรบ้าง ทุกวันจะได้ฟังคำสอนจากพระโอษฐ์ พระองค์สอนนักบวชให้ทำตัวอย่างไร

มีกิจวัตรพิจารณาอาหาร กวาดบ้าน ซักผ้า ระหว่างปฏิบัติเราก็ส่งการบ้านว่า เราเรียนรู้สิ่งที่มากระทบใจอย่างไร ใจเรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ สิ่งที่กระทบใจเราระหว่างเหตุการณ์นี้เกิดอะไรขึ้น เราดำเนินการกับมันอย่างไร จัดการกับปัญหาหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร ถึงออกมาแล้วอ้อมก็ยังส่งการบ้านให้คุณแม่ศันสนีย์อยู่เรื่อยๆ

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20100125/96887/อ้อม-สุนิสา-เปลี่ยนชีวิตไม่เหมือนพลิกฝ่ามือ.html


โลกทั้งใบ ในชาแก้วเดียว โดย หนูดี วนิษา เรซ

โลกทั้งใบ ในชาแก้วเดียว โดย หนูดี วนิษา เรซ

หนูดี - วนิษา ชวนคุณร่วมดื่มชาอีกครั้ง เป็นการดื่มชาอย่างมีสติ ดื่มเพื่อยกระดับระบบความคิด เป็นการดื่มชาเพื่อดื่มชาอย่างแท้จริง
ในเส้นทางแห่งการเรียนรู้ วิธีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายทว่าลึกซึ้งแบบเซนสอนอะไรให้เรามากมาย

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงชีวิตและยกระดับความคิดนั้น เราแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอะไรมากมายเลย แค่เปลี่ยน “ท่าทีกระทำ” ต่อสิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตก็แทบจะเพียงพอแล้ว

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ตั้งคำถามว่า “เวลาดื่มชา เห็นก้อนเมฆไหม” หนูดีได้เห็นคำถามนั้นในหนังสือของท่านก็เลยลองดื่มชาแล้วจินตนาการเห็นก้อนเมฆลอยฟ่องอยู่ในแก้วชา แล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจว่าเราปฏิบัติได้ไม่เลวเลยนะนี่

จนมารู้ตัวว่าหลงตัวเองผิดไปก็ตอนได้เข้าร่วมงานภาวนากับหลวงปู่แล้วได้รับฟังธรรมบรรยายเรื่อง “ก้อนเมฆในแก้วชา” ด้วยตัวเอง ลองคิดตาม จินตนาการตามคำหลวงปู่ไปเรื่อย แล้วก็ได้มองเห็นในสิ่งที่ลึกซึ้งกว่าแค่ “รูปทรงก้อนเมฆ” ในแก้วชาเป็นไหนๆ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ภูเขาลูกหนึ่งในภาคเหนือ ฝนตกกระหน่ำลงมา บนไร่ชาที่ยอดเขา จนต้นชาชุ่มฉ่ำเพราะได้รับน้ำฝนเต็มที่ตอนกลางคืน และพอรุ่งเช้าต่อมา คนงานในไร่ชาก็แบกตะกร้าขึ้นหลังออกมาเก็บยอดชาอ่อนแต่เช้าตรู่เพื่อนำไปบ่มในโรงงาน

คนงานเก็บชากันไปก็คุยเล่นกันไป บางคนเอาลูกอ่อนออกมาด้วย เพราะไม่มีใครเลี้ยงที่บ้าน เก็บชาเสร็จนำใบชาสดไปเข้าโรงบ่ม เมื่อบ่มเสร็จคนงานอีกชุดก็บรรจุกล่อง คนขับรถนำกล่องชาลงมาเพื่อวางขายที่ร้านในเมืองหลวง และเราก็เดินไปซื้อมา

เมื่อกลับมาบ้าน เราเปิดน้ำใส่กาน้ำชา น้ำนี้เดินทางมาจากแม่น้ำ ก่อนจะมาให้เราดื่มได้ ก่อนน้ำจะอยู่ในแม่น้ำ ก็ต้องเป็นน้ำฝน ก่อนเป็นน้ำฝนก็คือก้อนเมฆ แต่ก้อนเมฆก็มีการเดินทางก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในแก้วชาของเรา

ทุกครั้งที่เราดื่มชา ถ้าเราพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เราก็จะเห็นก้อนเมฆในนั้นทุกครั้ง แค่นี้ก็กระจ่างว่า โลกทั้งโลก หล่อเลี้ยงเรา และโลกดำรงอยู่ได้เพราะจักรวาลทั้งจักรวาลดำรงอยู่

นั่นหมายความว่า จักรวาลทั้งจักรวาลนั้น หล่อเลี้ยงเรา เรากับจักรวาล ไม่ใช่หน่วยที่แปลกแยกต่อกันและกัน แต่ดำรงอยู่ในกันและกัน

ดื่มชาแบบนี้ เราจะเห็นได้ว่า เราไม่ใช่หน่วยที่แยกออกมาอย่างโดดเดี่ยว เราไม่มีความจำเป็นต้องเหงา หรือรู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป เพราะตัวเราไม่อาจแยกจากจักรวาลได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เหมือนที่ทุกอณูของจักรวาลก็ปรากฏอยู่ในตัวเรา

นี่เป็นการมองอย่างลึกซึ้ง เป็นการมองอย่าง “จริง” และเป็นวิทยาศาสตร์

ถ้าจักรวาลดับสลายลงนาทีนี้ เราก็ต้องดับสลายลงเช่นกัน แต่ความจริงก็คือ เรายังดำรงอยู่ และทุกนาทีที่ผ่านไป เราก็เป็นหนี้บุญคุณจักรวาลที่ส่งสิ่งดีๆ มาให้เราอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่จักรวาลไม่เคยทวงถาม บางครั้งเราก็เลยลืมไป

ลองสังเกตสิ่งที่มีบุญคุณที่สุดกับชีวิตเราสิคะ เขาจะเงียบที่สุด ไม่เคยทวงถามเลย เหมือนกับพ่อแม่ที่ไม่เคยทวงบุญคุณอะไรเราเลย หรือทวงก็น้อยที่สุด เทียบกับสิ่งอื่นหรือคนอื่น บางครั้งทำอะไรให้เราเพียงน้อยนิดก็ทวงบุญคุณอยู่นั่นเอง หรือทำให้เรารู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณเสียมากมาย

หากเราฝึกมองอย่างนี้บ่อยเข้า เราจะเข้าสู่ภาวะจิตแห่งความรู้สึก “ขอบคุณอย่างลึกซึ้ง” เพราะเราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า จักรวาลทั้งจักรวาล โลกทั้งโลก ดำรงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงเรา และทุกการกระทำของเรามีผลต่อโลกและจักรวาล

นี่คือโลกที่ไม่มีเธอ ไม่มีฉัน มีแต่ “เรา”

นักธุรกิจที่คิดได้ขั้นนี้ จะไม่มีวันก่อสร้างธุรกิจที่มีพื้นฐานบนการเบียดเบียน ทำลายโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม เอาเปรียบ ตบตา เพราะเขารู้ว่า ทุกสิ่งที่เขาทำออกไป ท้ายที่สุดแล้วก็จะย้อนกลับมาเป็นสภาพแวดล้อมในโลกนี้ ที่เขาต้องอาศัยอยู่เช่นกัน

โลกนี้มีธุรกิจมากมายที่ให้ผลตอบแทนดีอย่างมหาศาล โดยที่ระหว่างเราทำธุรกิจ เรามีโอกาสยกระดับจิตใจตัวเองขึ้นไปด้วย และยังทำให้โลกดีไปพร้อมกันได้ ไม่ใช่ปล่อยให้จิตใจตกต่ำ เต็มไปด้วยความวิตกกังวล เจ็บแค้น หรือ เครียดกลัว และเอาเปรียบคนอื่นไปตลอดเส้นทางสู่ความมั่งคั่ง

กษัตริย์ที่ดี ไม่มีวันยอมนั่งอยู่บนบัลลังก์เปื้อนเลือดเช่นใด นักธุรกิจที่มีคุณค่าจะไม่มีวันยอมเป็นเจ้าของกิจการที่ได้มาด้วยการลดระดับจิตใจตัวเองเป็นอันขาด เช่นเดียวกัน

ธุรกิจที่ดูแลและตอบแทนโลก ก็ย่อมจะได้รับการดูแลและตอบแทนกลับมาจากโลกเช่นกัน แต่ก่อนจะก้าวไปถึงขั้นนั้น หนูดีขอเชิญชวนทุกท่านมาล้อมวงดื่มชากันอย่างมีสติลึกซึ้ง แล้วจะเห็นได้ว่าโลกทั้งใบ อาศัยอยู่ในชาเพียงแก้วเดียว

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20100131/97295/โลกทั้งใบ-ในชาแก้วเดียว.html


ประเทศไทย ของดีที่ถูกมองข้าม โดย หนูดี วนิษา เรซ


ประเทศไทย ของดีที่ถูกมองข้าม โดย หนูดี วนิษา เรซ

โอกาสในการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งนี้ หลายคนอาจมองเป็นสิ่งที่ไกล และใหญ่เกินที่จะกำลัง แต่สาระสำคัญนั้นเราไม่ต้องรอรัฐบาลหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ไหนเริ่มต้นก่อน ประชาชนแค่หนึ่งคน ก็สามารถลงมือเพื่อทำให้ปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดดีได้ ส่วนอนาคตเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง

โดยส่วนตัวหนูดี ได้ลงมือทำไปแล้วในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ทำเต็มกำลังแล้ว ทำให้ที่ผ่านมา จึงไม่ค่อยได้ตั้งคำถามในระดับใหญ่บ่อยนัก รวมทั้งไม่ค่อยกระวนกระวายใจกับสถานการณ์และอนาคตของประเทศ เพราะสบายใจว่า สิ่งที่อยู่ในอำนาจตัวเองนั้นได้ทำดีที่สุด

ส่วนอะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นตามแต่เหตุปัจจัย

เพราะเชื่ออยู่เสมอว่า "เราทำได้แค่ประกอบเหตุ แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา"

นอกจากนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ยังเห็นว่าประเทศไทยยังมีสิ่งดีงามอีกมากมาย เพียงแต่อาจถูกมองข้าม ขณะที่บางอย่างซึ่งเคยมีก็อาจลดน้อยและสูญหายไปในที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคนไทยควรช่วยกันเสริม โดยเริ่มจากสิ่งงดงามที่มีอยู่แล้ว คือ ความอบอุ่นใจจากชุมชนที่แน่นเหนียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"หนูดี เชื่อในพลังกลุ่มที่กลมเกลียว"

ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวสำหรับสิ่งที่หนูดีพูดถึง ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะครอบครัวเล็กๆ เป็นองค์กร หรือเป็นสังฆะทางธรรม จะเป็นในรูปแบบไหนไม่สำคัญ สำคัญแต่ที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่กว่าตัวเอง เพื่อให้ใจสบาย

และนั่นคือ เหตุผลที่คนเราต้องมีศาสนา มีลัทธิ มีองค์กร มีชาติ มีกลุ่มกีฬา

ส่วนทักษะในการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เรียนรู้จากกันและกัน และมีต้นแบบดีๆ ในสังคมให้เยาวชนมองขึ้นมาให้มากขึ้น ต่างหากเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยเสริม และเป็นการเสริมที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการใส่เงินเข้าไปอย่างเดียว แต่นัยที่หนูดีพูดถึง คือ "ผู้ใหญ่" ผู้ที่สร้างเงื่อนไข ผู้ที่ตั้งตนอยู่ในฐานะของผู้กำหนด ต้องกลับมาเริ่มต้นมองตนเองด้วย

หากผู้ใหญ่ต้องการเรียกร้องให้เยาวชนเป็นเด็กที่ดี เด็กเรียนเก่ง เด็กน่ารัก ไม่เสพยา เข้าหาวัด แต่ผู้ใหญ่ได้หยุดแล้วหันมาตั้งคำถามกับตัวเองหรือยังว่า ผู้ใหญ่ได้ทำตัวให้มีคุณค่าพอที่จะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากเด็กๆ หรือยัง

"เด็กทุกคนไม่ต้องการได้ยินเสียงบ่น"

และหากพูดแทนใจเด็กๆ ได้ อยากจะบอกว่า พวกเขาคงอยากเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ "ทำ" แล้ว ทำให้เขาคิดว่า "อยากเป็นอย่างนั้นจัง อยากทำอย่างนั้นจัง"

เมื่อความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นในใจเด็ก แล้วหลังจากนั้น ผู้ใหญ่ค่อยส่งเสียงให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์จะดีกว่า

เช่นเดียวกับการที่ "ผู้ใหญ่" จะลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง โดยที่ "เด็ก" ต้องเป็นผู้ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

ส่วนเป้าหมายนั้นควรเป็นเป้าหมายร่วม ที่เกิดจาก "รัก" และ "เข้าใจ" ดังคำพูดที่ว่า "เราไม่สามารถรัก ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ"

การที่เราคาดหวังจะเห็นวัยรุ่นและเยาวชนเป็นแบบใด เป้าหมายร่วมควรต้องเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ และต้องเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน

เริ่มต้นจากครอบครัว ต้นทางของ "รัก" และ "เข้าใจ" เพราะมีบางอย่างที่เป็นเหมือนม่านบางๆ มาทำให้อะไรบางอย่างอยู่ผิดที่ ผิดทางไป

หลายครอบครัวมีความรัก มีเวลาให้กับ "เด็ก" ซึ่งบางครั้งมีมากเกินที่เด็กต้องการด้วยซ้ำไป เพราะอย่าลืมว่าเด็กเองเขาก็ต้องการมีเวลาที่เป็นของเขาเองด้วย การที่มีเวลามากแต่ไม่สามารถนำส่วนผสมของ "รัก+เข้าใจ" ส่งต่อให้กับบุตรหลานได้ ก็เป็นเรื่องที่อันตรายได้เช่นกัน

บางครอบครัวปล่อยให้เวลาที่มีสูญเปล่าไป โดยที่ไม่ได้เป็นการต่อยอดพลังที่สดใสให้กับเด็ก

"มีแต่ไม่รู้จักใช้"

ขณะที่ครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง เลือกที่จะมอบหน้าที่ทั้งหมดให้กับโรงเรียน ให้กับครู

(พรุ่งนี้กับข้อเสนอ "พ่อ แม่ ควรเปิดโอกาสให้ลูก เรียนรู้โลก")

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/thailand-tomorrow/20100101/95790/ประเทศไทย-ของดีที่ถูกมองข้าม.html


07 มีนาคม 2553

อย่าหวังรวยลัดจากตลาดหุ้น - ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อย่าหวังรวยลัดจากตลาดหุ้น - ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปี 2546 คงจะต้องถูกจารึกว่าเป็นปีที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนดีที่สุดปีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นเพราะดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นกว่า 100% จากดัชนีประมาณ 356 จุดเป็นประมาณ 772 จุดในวันสิ้นปี

นักลงทุนทุกกลุ่มในตลาดต่างก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ บางคนกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จากเงินที่นำมาลงทุนในหุ้น บางคนกำไรเพียงหลักสิบเปอร์เซ็นต์ ความดีใจและความภาคภูมิใจของนักลงทุนก็ลดหลั่นกันไปตามผลกำไรที่ได้รับเช่นเดียวกับความมั่นใจที่เกิดขึ้นจากการเล่นหุ้น

หลายๆ คนอาจจะเริ่มฝันว่าได้พบหนทางสู่ความมั่งคั่งอย่างง่ายดายและรวดเร็ว บางคนเริ่มคิดถึงวันที่ตนเองจะมีอิสรภาพทางการเงินในไม่ช้าทั้งๆ ที่เพิ่งจะเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

สิ่งที่คนจำนวนมากในตลาดหุ้นคิดและเชื่อกันในขณะนี้ก็คือหุ้นเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก และถ้าทำโพลถามนักลงทุนว่าเขาคิดว่าตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเท่าไรในระยะยาว คำตอบคงเป็น 30 – 40% ต่อปีขึ้นไป โดยเฉพาะในปี 2547 นั้น หุ้นคงจะวิ่งกระฉูดไม่แพ้ปี 2546 เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เอื้ออำนวยต่อตลาดหุ้นก็ยังคงอยู่ และน่าจะดีขึ้นด้วยซ้ำไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจที่เขาบอกกันว่าจะดียิ่งขึ้นไปอีก

แต่ถ้าถามว่ามีนักลงทุนในตลาดหุ้นกี่คนที่ร่ำรวย หรือมีอิสระทางการเงินแล้วจากการลงทุนในตลาดหุ้น คำตอบก็คือน้อยมาก แม้ว่าจะไม่มีใครทำการศึกษาเรื่องนี้ แต่ผมเชื่อว่าคนที่รวยจากการลงทุนหรือเล่นหุ้นจริงๆ นั้นมีไม่เกิน 1 ใน 100 คนที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุน ผมคิดว่าคงมีพอสมควรหลังจากที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือไม่ต่ำกว่า 70 – 80% ของนักลงทุนนั้น ผมเชื่อว่ายังไม่ได้กำไรจากหุ้นเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ยกเว้นปี 2546 ที่ได้กำไรชดเชยมาบ้าง

เพราะข้อเท็จของหุ้นก็คือ ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละประมาณ 10% เท่านั้น โดยเป็นผลตอบแทนที่เกิดจากการปรับตัวขึ้นของดัชนีประมาณ 7 – 8% และผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 2 – 3% ต่อปี และข้อมูลนี้ก็บังเอิญใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นในสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 10 – 11% ต่อปี โดยเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 50 – 60 ปีขึ้นไป

ข้อเท็จจริงต่อมาของตลาดหุ้นก็คือผลตอบแทนจากการลงทุนมีการขึ้นลงผันผวนไปเรื่อยๆ แม้ว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีโดยที่มีน้อยครั้งมากที่เศรษฐกิจจะติดลบและเกิดวิกฤติ นานๆครั้งดัชนีตลาดก็จะตกต่ำลงอย่างหนักเป็นเวลา 2 – 3 ปี เช่นเดียวกับที่บางครั้งดัชนีก็ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงเป็นภาวะกระทิงเปลี่ยวอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ ในระยะยาวตลาดไม่สามารถเติบโตเกิน 10 – 15% ต่อปี โดยเฉลี่ยได้

ด้วยเหตุดังกล่าว นักลงทุนที่คิดว่าตนเองจะสามารถลงทุนทำกำไรจากตลาดหุ้นได้ปีละ 30 – 40% หรือบางคนคิดว่าจะสามารถกำไรเป็นเท่าตัวในปีเดียวจึงเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไปหรือไม่ก็คงประมาณการฝีมือการลงทุนของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งโอกาสที่จะไม่เป็นเช่นนั้นคงมีอยู่สูง ความผิดหวังจะตามมา และเมื่อถึงเวลานั้น ความคิดและภาพพจน์เกี่ยวกับตลาดหุ้นก็จะเปลี่ยนไป คนจะเลิกคิดว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งที่จะสามารถสร้างความมั่งคั่งที่รวดเร็วได้ และคนจำนวนมากก็จะออกจากตลาดหลักทรัพย์กลับไป “ทำมาหากิน” ตามเดิม

นอกจากผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ได้สูงลิ่วอย่างที่หลายคนคิดแล้ว การจัดสรรเงินมาลงทุนในหุ้นสำหรับคนส่วนมากก็มักจะเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงลงทุนในหุ้นไม่เกิน 20 – 30% ของเม็ดเงินที่มี เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ากำไรจากหุ้นจะเป็น 100% ในปีใดปีหนึ่ง แต่ถ้าเงินส่วนใหญ่อีก 70 – 80% กลับฝากอยู่ในธนาคารได้ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ผลตอบแทนรวมก็จะได้เพียงประมาณ 21 – 31% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้ใครรวยได้อย่างรวดเร็ว

ข้อสรุปของผมก็คือ เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนทั่วไปที่จะร่ำรวยจากตลาดหุ้นแม้ว่าในช่วงนี้หลายๆ คนจะคิดว่าเป็นไปได้ไม่ยาก คนมักจะเอาสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้มาเป็นฐานในการมองไปข้างหน้า สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงปีหรือสองปีมักจะมีอิทธิพลมากกว่าประวัติศาสตร์เกือบ 30 ปีที่ผ่านมาของไทยและประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นนับเป็น 100 ปีของตลาดหุ้นที่เจริญที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา

Value Investor ที่จะประสบความสำเร็จ ร่ำรวย และเป็นอิสระทางการเงินจากตลาดหุ้นได้นั้น ผมคิดว่าจะต้องมองตลาดหุ้นด้วยความเป็นจริง คาดหวังผลตอบแทนปีละไม่เกิน 15% โดยเฉลี่ยจากการลงทุนไม่ว่าภาวะแวดล้อมจะสดใสเพียงใด ไม่ควรลงทุนในหุ้นที่เก็งกำไรสูงแต่ควรซื้อหุ้นที่มีความปลอดภัยมากด้วยเม็ดเงินในสัดส่วนที่สูง นั่นคืออย่าฝากเงินในธนาคารซึ่งให้ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปีมากนัก และสุดท้ายซึ่งหนีไม่พ้นก็คือจะต้องลงทุนในตลาดหุ้นยาวนานไม่ออกไปไหนถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร

การลงทุนให้ประสบความสำเร็จจริง ๆ นั้น ไม่มีทางลัด และมันต้องการเวลา วอเร็น บัฟเฟตต์เคยพูดว่าคุณไม่สามารถผลิตเด็กภายใน 1 เดือนโดยใช้ผู้ชาย 9 คนได้ เช่นเดียวกันการลงทุนนั้นอย่าหวังรวยเร็ว ควรหวังรวยช้าแต่แน่นอนจะดีกว่า

from http://www.sarut-homesite.net/อย่าหวังรวยลัดจากตลาดห/


PE, PBV และ ROE

PE, PBV และ ROE

ถ้าใครได้ลงทุนในแนว VI มานานระดับหนึ่ง หรือได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าทั้งของไทยและของฝรั่ง น่าจะคุ้นเคยกับอัตราส่วน 3 ตัวที่เขียนไว้ที่ชื่อเรื่องในวันนี้…

ยังไงสำหรับคนที่อาจจะยังเป็นมือใหม่ ผมจะขอทบทวนความหมายของอัตราส่วนทั้ง 3 ตัวอีกรอบนะครับ

P/E – ย่อมาจาก Price/Earning per Share ถ้าสมมติว่ากำไรของบริษัทไม่เติบโตเลย P/E จะหมายถึงระยะเวลาคืนทุน เช่น P/E 5 เท่าหมายถึงระยะเวลาลงทุน 5 ปี … P/E นี่ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ

P/BV – ย่อมาจาก Price/Book Value ซึ่ง Book Value นี่จริงๆก็คิดมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) หารด้วยจำนวนหุ้น … ยิ่งเราซื้อหุ้นได้ต่ำกว่า BV มากเท่าไหร่ (P/BV ต่ำ) ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ซึ่งตามตำราทั่วๆไปก็จะบอกว่า P/BV ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือเลข 1 เท่า

ROE – ย่อมาจาก Return on Equity หรือกำไรสุทธิหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นอัตราส่วนที่ Buffett นั้นให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ความหมายของ ROE นั้นเป็นตัวที่บ่งบอกว่า เงินที่บริษัทเก็บเอาไว้ทุกบาทนั้น บริษัทสามารถนำไปทำให้งอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ … เพราะฉะนั้น ROE ยิ่งสูงก็ยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้กันคือความสูงกว่า 12 – 15% อย่างต่อเนื่องหลายๆปี

ที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นสิ่งที่หนังสือทั่วๆไปให้ความหมายไว้ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงความสัมพันธ์ของ Ratio ทั้ง 3 ตัวนี้ซักเท่าไหร่ .. ผมจะลองผูกสูตรให้ดูกันนะครับ

P/E = Price/EPS = Price/(Net Profit/Number of Share)

P/BV = P/BV = Price/(Equity/Number of Share)

ROE = Return/Equity = (Net Profit/Equity)

ลองเอาผูกกันดูนะครับ จะได้ P/BV = P/E x ROE

จากที่หนังสือทั่วไปบอกว่าหุ้นที่ดีจะต้องมี P/E ต่ำ P/BV ต่ำ ROE สูง ลองมาใส่ในสูตรจะเห็นว่ามันมีความขัดแย้งกันอยู่พอสมควร

1. สมมติว่าให้หุ้นตัวหนึ่งมี P/E คงที่ที่ 10 เท่า ถ้า ROE เท่ากับ 5% หรือ 0.05 จะได้ P/BV 0.5 ก็จะเห็นว่า P/E หุ้นตัวนี้อยู่ในระดับกลางๆ ไม่สูงไม่ต่ำไป P/BV ก็ต่ำเพียง 0.5 ก็ถือว่าถูกมาก แต่ ROE ที่ 5% นั้นจริงๆแล้วถือว่าต่ำมาก

2. สมมติให้หุ้นอีกตัวหนึ่งมี P/E เท่ากับ 10 เหมือนกัน ROE 20% P/BV จะเท่ากับ 2 ซึ่งจะเห็นว่าถ้ามองจาก P/BV นั้นอาจจะมองว่าหุ้นราคาไม่ถูกแล้ว เพราะแพงกว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 1 เท่า แต่ถ้ามองในแง่ของ ROE ที่สูงถึง 20% ก็จะเห็นว่าหุ้นตัวนี้มีคุณภาพดีมากๆตัวหนึ่ง

แล้วปัญหาก็คือเราจะเลือกซื้อหุ้นตัวไหนดี เบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 เพราะจากสูตรข้างต้นจะเห็นว่า P/BV ต่ำกับ ROE สูงนั้นมักจะไม่มาด้วยกัน … เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในมุมมองของผม ส่วนใหญ่การลงทุนที่ผ่านมาที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จอยู่ซ้ำๆคือ หุ้นประเภท 2 ที่มี ROE สูงแม้จะมี P/BV สูง … เพราะฉะนั้นเวลาลงทุนจริงๆ ผมแทบจะไม่ได้มอง P/BV เลยครับ ส่วนใหญ่ก็จะมอง P/E ROE และอนาคตของบริษัทซะมากกว่า ซึ่งตอนนี้มาดูหุ้นใน Port ของผม ก็เป็นหุ้นที่มี P/BV อยู่ในระดับ 3 – 4 เท่าทั้งนั้น (มีเพียงตัวเดียวที่ P/BV ประมาณ 1 เท่าหน่อยๆ) และ ROE ประมาณ 30-40%

สาเหตุที่ผมเลือกหุ้นที่มี ROE สูงมากกว่าหุ้นที่มี P/BV ต่ำ เพราะการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น ก็แบ่งออกเป็น 2 แนวหลักๆคือ แนวเกรแฮมที่เน้นหุ้นที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเน้นการซื้อหุ้นที่ P/BV ต่ำ P/E ต่ำ และแนวที่ 2 คือ แนว Buffett ที่เน้นหุ้นที่มีคุณภาพสูงราคาเหมาะสม คือซื้อที่มี ROE สูงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะดีต่อไป ในขณะที่ P/E ก็ไม่แพงมากเกินไป การลงทุนทั้ง 2 แนวนั้นถ้าจริงๆแล้วผมว่าใช้ได้ดีทั้งคู่ แต่จากผลงานของทั้งบัฟเฟตเทียบกับเกรแฮมก็จะเห็นว่าแม้เกรแฮมจะทำผลงานได้ดีแต่ Buffett นั้นทำผลงานได้ดีกว่ามาก …

แล้วเมื่อไหร่เราถึงจะควรซื้อหุ้นที่มี ROE ต่ำและมี P/BV ต่ำ?

1. เมื่อนักลงทุนเป็นนักลงทุนที่อาจจะไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในหุ้นที่มี P/E และ P/BV ต่ำหลายๆตัว (ผมว่าอย่างต่ำต้อง 10 ตัว) เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีการพิสูจน์มาระดับหนึ่งแล้วว่าให้ผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้ แต่สำหรับคนที่มีความรู้ในด้านการลงทุนด้านธุรกิจ และต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่า ผมว่าการซื้อหุ้น P/BV ต่ำคงไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่าไหร่

2. เมื่อเราเจอหุ้นที่มีพื้นฐานเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน สมมติมีหุ้นตัวหนึ่ง ในอดีตอาจจะมีผลกำไรที่ไม่ค่อยดีทำให้มีค่า ROE ต่ำอยู่นาน แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอว่าบริษัทมีพื้นฐานที่เปลี่ยนไป เช่น มีการลงทุนในโครงการบางอย่างที่ได้ผลดีมากและสามารถสร้างกำไรในอนาคตได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่ง ROE ในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาสได้เจอหุ้นแบบนี้ โอกาสที่จะกำไรหลายๆเท่าต้วนั้นมีสูงมาก หุ้นพวกนี้เห็นได้บ่อยๆในกลุ่มธุรกิจวัฏจักร ที่อยู่ในช่วงต่ำสุดของ Cycle และกำลังมีแนวโน้มที่ดี ในอดีตก็จะเห็นหุ้นเรือเมื่อหลายๆปีก่อนมี ROE ต่ำมากๆ P/BV ก็ต่ำมากๆเช่นกัน จนค่าระวางเพิ่มขึ้น ROE ก็เพิ่มขึ้นสูงถึงระดับ 100% ใครได้ซื้อหุ้นพวกนี้ไว้ลงทุนระยะยาวจนปัจจุบันน่าจะทำกำไรได้หลาย 10 เท่าภายในระยะเวลาไม่นานมากนัก

จริงๆแล้วค่า ROE นี่ยังมีความหมายลึกๆที่สามารถเขียนได้อีกเยอะเลย .. ยังไงผมจะเก็บเอาไว้ต่อในคราวหน้าละกันนะครับ ..

####

ROE (ต่อ)

เมื่อบริษัทใดๆก็ตาม ทำธุรกิจมีกำไร บริษัทมีทางเลือกหลักอยู่ 4 ทางในการจัดสรรเงินดังกล่าว ได้แก่

1. เก็บเงินไว้ลงทุนต่อ – ถ้าบริษัทมีแผนในการลงทุน และคิดว่าการเก็บกำไรเอาไว้ลงทุนต่อ จะทำให้บริษัทมีกำไรในอนาคตที่ดีขึ้นก็เป็นทางเลือกที่ดี

2. เก็บเงินไว้จ่ายคืนหนี้ – ถ้าบริษัทมีหนี้สินมากเกินไป หรือภาระดอกเบี้ยสูงซึ่งทำให้บริษัทความเสี่ยงมาก บริษัทก็ควรเก็บเงินบางส่วนไว้จ่ายคืนหนี้สินเพื่อลดภาระดอกเบี้ยและลดความเสี่ยง

3. จ่ายออกมาเป็นเงินปันผล – ถ้าบริษัทไม่มีแผนในการใช้เงินลงทุน การจ่ายเงินสดคืนออกมาให้กับผู้ถือหุ้นก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะการที่บริษัทเก็บเงินสดไว้กับบริษัทมากๆ โดยเอาเงินไปฝากธนาคารจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำ สู้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผล แล้วให้ผู้ถือหุ้นเอาเงินไปลงทุนต่อเองจะดีกว่า

4. ซื้อหุ้นคืน – กรณีที่บริษัทมีเงินสดเหลือและไม่มีแผนในการลงทุน พร้อมกับการที่ราคาหุ้นของบริษัทนั้นมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง บริษัทนั้นอาจจะนำกำไรที่เหลือมาซื้อหุ้นของบริษัทคืน เพื่อทำให้จำนวนหุ้นน้อยลง กำไรต่อหุ้นก็จะดีขึ้น รวมถึงปันผลในอนาคตก็จะสูงขึ้นเพราะตัวหารน้อยลง

ทางเลือกทั้ง 4 วิธีนั้นสามารถแสดงถึงวิธีการบริหารจัดการกับเงินของบริษัทได้เป็นอย่างดี และทางเลือกทั้ง 4 นั้นก็มีผลกระทบกับค่า ROE โดยแสดงเป็นตัวอย่างได้ดังนี้

บริษัท A – อยู่ในธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทเห็นว่าการเก็บผลกำไรไว้ลงทุนต่อจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า บริษัทจึงไม่จ่ายเงินปันผลออกมาและเก็บเงินไปลงทุนทั้งหมด ถ้าเราดูจาก ROE จะเห็นว่าค่า E จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะบริษัทกำไรจะไปทำให้ E เพิ่มขึ้น (เพราะบริษัทไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลออกมา) แต่ในขณะเดียวกันเมื่อบริษัทลงทุนเพิ่มขึ้นรายได้ก็เพิ่มขึ้น กำไร (Return) ก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ROE ของบริษัท A จะยังคงสูงต่อไป ตราบใดก็ตามที่บริษัท A สามารถนำไปลงทุนได้อย่างเหมาะสม (สูงกว่าค่า ROE เดิมของบริษัท) หุ้น A จะถือว่าเป็นหุ้น Growth Stock ที่น่าลงทุนตัวหนึ่ง

บริษัท B – อยู่ในธุรกิจที่ผ่านช่วงลงทุนครั้งใหญ่มาไม่นาน ในอดีตบริษัทต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของบริษัทจนทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทต้องกู้หนี้ยืมสิ้นเป็นจำนวนมากทำให้อัตราส่วน D/E ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า บริษัทเห็นว่าการมีหนี้สินมากจะทำให้ความเสียงของบริษัทนั้นสูงเกินไป บริษัทจึงเก็บผลกำไรไว้คืนหนี้สิ้นเพื่อลด D/E ลงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จะเห็นว่าทางเลือกนี้ทำให้ค่า E เพิ่มขึ้น (เพราะกำไรแล้วไม่จ่ายออกมาเป็นปันผล) แต่อย่างไรก็ ทั่วไปเมื่อบริษัทมีการลงทุนครั้งใหญ่แนวโน้มรายได้ของบริษัทมักจะอยู่ในช่วงขาขึ้น (ถ้าบริษัทคาดการณ์ถูก) ทำให้กำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่า ROE ก็จะคงอยู่ในระดับสูง การคืนหนี้ก็จะทำให้บริษัทนั้นมีผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ลดลงได้ บริษัท B นั้นจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากหุ้น cycle ในช่วงต้อนๆของวงจรขาขึ้นบริษัทจะลงทุนเป็นจำนวนมาก แล้วค่อยมาคืนหนี้ทีหลัง ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหุ้น B ก็น่าลงทุนไม่น้อยเหมือนกัน

บริษัท C – อยู่ในธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว แทบไม่มีการเติบโต รายได้และกำไรคงที่มาหลายปี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อบริษัทไม่เห็นการเติบโตบริษัทจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมทำให้สามารถจ่ายปันผลได้ 100% ถึงแม้ว่ากำไรจะไม่เพิ่ม (R คงที่) แต่ค่า E ก็ไม่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (ได้กำไรมาเท่าไหร่ก็จ่ายปันผลหมด จึงไม่มีสะสมเป็นกำไร) ค่า ROE ก็จะคงที่ต่อไป ถ้า ROE ของบริษัทอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเช่น 15% ติดต่อกันนานๆ หุ้น C จะจัดได้ว่าเป็นหุ้นปันผลที่น่าลงทุนอีกตัวหนึ่ง

บริษัท D – เหมือนกับบริษัท C ทุกประการ แต่เนื่องจากผู้บริหารเห็นว่าหุ้น D ในกระดานนั้นมีราคาถูกมาก แทนที่บริษัทจะจ่ายออกมาเป็นเงินปันผล บริษัทจึงซื้อหุ้นคืนจากตลาดแทน การซื้อหุ้นคืนนั้นทำให้ส่วนทุนนั้นลดลง (ค่า E ลดลง) ถ้าบริษัทซื้อหุ้นคืนทุกปีโดยใช้เงินเท่ากับกำไรที่ทำได้ในแต่ละปีค่า E จะคงที่ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ค่า R จะไม่เพิ่มขึ้น แต่ ROE ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับเดิมได้ต่อไป

ถ้าหุ้นทั้ง 4 ตัวนั้นมีค่า ROE ที่สูงอยู่แล้ว และบริษัทสามารถใช้ทางเลือกทั้ง 4 ในการบริษัทเงินเพื่อทำให้ค่า ROE ไม่ลดต่ำลงจากเดิมได้ หุ้นทั้ง 4 ตัวนั้นจะจัดได้ว่าเป็นหุ้นที่น่าลงทุนได้ทั้งหมด

วันนี้ดูเรื่องจะค่อนข้างซับซ้อนหน่อยนะครับ ผมพยายามหาทางอธิบายให้ง่ายแล้วก็ยังทำได้เต็มที่แค่นี้ ถ้าให้พูดให้ฟังอาจจะเข้าใจง่ายกว่า พิมพ์เองมันช้า เอาว่าถ้าใครสงสัยส่วนไหนลองถามๆกันมาดูนะครับ

####

ROE กับ D/E

มีแถมให้อีกหน่อย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ROE กับ D/E ซึ่งคงหาอ่านจากหนังสือทั่วไปไม่ได้นะครับ เพราะผมคิดของผมเอง …

ปกติผมจะชอบลงทุนในหุ้นที่มีค่า ROE อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าค่า ROE ที่สูงสม่ำเสมอนั้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทใช้เงินได้อย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีบางบริษัทที่สามารถทำให้ค่า ROE นั้นสูงได้โดยการกู้เงินมาลงทุนเยอะๆ การกู้เงินเยอะขึ้นจะทำให้ค่า D/E (dept/equity) สูงซึ่งค่า D/E นี้แสดงถึงความเสี่ยงทางการเงินของบริษัท เมื่อเข้ามาลงทุนหลายๆคนคงจะได้ยินที่เค้าบอกกันว่า “High Risk High Return” กันใช่ไหมครับ ในการวิเคราะห์บริษัทเองผมก็ให้ความสำคัญกับประโยคนี้เช่นกัน คือถ้าบริษัทมีค่า D/E ที่สูง บริษัทก็ควรจะมีค่า ROE ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าผมไปเจอบริษัทไหนที่มีแนวโน้มค่า D/E สูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ROE นั้นไม่เพิ่มขึ้น (อาจจะคงที่หรือลดลง) ผมจะถือว่าเป็นหุ้นที่ควรระวัง เพราะค่า D/E ที่สูงแสดงว่า High Risk ถ้า ROE ไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่า Low Return หุ้นแบบนี้หลีกเลี่ยงไว้ดีกว่า แต่ในทางกลับกันถ้าเจอหุ้นที่ D/E ลดลงแต่ ROE เพิ่มขึ้น แบบนี้ต้องรีบตระครุบเอาไว้เพราะเราจะได้หุ้น Low Risk High Return มาประดับ Port

ปล. ค่า ROE ในแต่ละปีอาจจะผันผวนได้พอสมควร เพราะฉะนั้นเราไม่ควรให้ค่า ROE รายปีมาหลอกเราได้ ควรจะตรวจสอบย้อนหลังไปหลายๆปี เพื่อให้เห็นแนวโน้มของมัน จะได้นำมาใช้ได้ถูกต้อง

from http://www.sarut-homesite.net/pe-pbv-และ-roe-สันติ-สิงหวังชา


05 มีนาคม 2553

ฝันปั้น-ไพลินบุ๊คเน็ต-Value-Growth-Stock


ฝันปั้น-ไพลินบุ๊คเน็ต-Value-Growth-Stock

"ฉัตรเฉลิม เฉลิมชัยวัฒน์" ตอบข้อสงสัยว่า ทำไมถึงนำธุรกิจสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ ที่ดูเหมือนเป็นธุรกิจ “ตะวันตกดิน” ถ้าเป็นธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารอาจจะใช่ (ตะวันตกดิน) เพราะมีการแข่งขันสูงและต้นทุนสูง แต่หนังสือเล่มหรือพอคเก็ตบุ๊คเป็นสื่อที่ไม่มีวันตาย ตลาดอาจไม่หวือหวาแต่มั่นคงสูง ไพลินบุ๊คเน้นตลาดล่างราคาขายประมาณร้อยกว่าบาท เน้นเนื้อหาที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีผู้เล่นน้อยราย

"เราพูดได้ว่าทุกๆ บ้านจะต้องมีหนังสือของไพลินบุ๊คอย่างน้อยหนึ่งเล่ม"

ไพลินบุ๊คเน็ต มีจุดเด่นคือการเป็นบริษัทที่ผลิตหนังสือพอคเก็ตบุ๊คเป็นของตัวเอง ประมาณ 5,000 ชื่อเรื่อง มีความหลากหลายครอบคลุมทุกๆ หมวดหมู่ โดยกลยุทธ์การทำตลาดจะมุ่งจำหน่ายปลีกให้กับผู้อ่านในราคาประหยัดซึ่งถือเป็นจุดเด่นของบริษัทที่มีเหนือคู่แข่ง

นอกจากนี้ ยังมีจุดขายทั้งที่เป็นร้านหนังสือ และเอาท์เลต เป็นของตัวเอง ประมาณ 200 แห่ง ฝากขายในซูเปอร์สโตร์ชั้นนำทั้งในโลตัส, บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ กว่า 100 แห่ง ขายผ่านร้านหนังสือทั่วประเทศประมาณ 2000 ร้านค้า จัดจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ 7-11 อีกกว่า 3,000 แห่ง รวมทั้งผ่านร้านมินิมาร์ท ในปั๊มน้ำมันอีกกว่า 1,000 แห่ง ทำให้สินค้าของบริษัทสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวก

เหตุผลที่เตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นต้องการให้คนทั่วไปรู้จักชื่อ "ไพลินบุ๊คเน็ต" มากขึ้น รวมถึงนำเงินมาเป็นทุนเปิดร้านหนังสือของตัวเองประมาณ 100 สาขา หรือลงทุนประมาณสาขาละ 1 ล้านบาท เบื้องต้นจะกระจายหุ้นสัดส่วน 25% ให้กับรายย่อย คาดว่าจะเข้าซื้อขายได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะขายหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นสัดส่วน 50:50 จากปัจจุบันขายเฉพาะของตัวเอง 100%

“รายได้ของไพลินบุ๊คเน็ตสองปีย้อนหลังมีการเติบโตถึง 100% ปีที่แล้วก็เติบโต 25% คาดว่าปีนี้จะเติบโต 50%”

จุดเด่นอีกอย่างของบริษัทคือมีอัตรากำไรสุทธิ 10% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของธุรกิจนี้คือ 5% เป็นเพราะมีการบริหารต้นทุนที่ดี ทำให้ไม่มีปัญหาสต็อกหนังสือล้นปัจจุบันบริษัทก็แทบจะไม่มีหนี้สินด้วย
แน่นอนว่า หุ้นไพลินบุ๊คเน็ตเมื่อเข้าตลาดจะต้องถูกเปรียบเทียบกับ หุ้น SE-ED และหุ้น APRINT ที่ทำธุรกิจคล้ายกันและเป็นขวัญใจนักลงทุนหุ้นคุณค่า ฉัตรเฉลิม บอกว่า ไพลินจะมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง นอกจากจะมีรายได้ที่มั่นคง ธุรกิจไม่ซับซ้อนแล้ว ยังมี Growth Story ที่น่าตื่นเต้นรออยู่

เขาอธิบายว่า ในหนึ่งปีจะมีพอคเก็ตบุ๊คออกใหม่ปีละ 15,000 ปก เฉลี่ยแล้วจะมีหนังสือเหลือปกละ 1,000 เล่ม รวมกันประมาณปีละ 15 ล้านเล่ม บริษัทจะขอรับไปขายต่อลดราคาจำนวน 10 ล้านเล่ม ผ่านช่องทางขายที่กล้าเคลมว่า “มากที่สุด” ในประเทศ จุดนี้จะเป็นช่องทางรายได้ใหม่ในอนาคต

“ผมให้นิยามหุ้นไพลินบุ๊คเน็ตว่าจะเป็นทั้งหุ้นคุณค่าที่แวลูอินเวสเตอร์ชอบ และ Growth Stock ที่มีสตอรี่การเติบโต”

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20100305/102722/ฝันปั้น-ไพลินบุ๊คเน็ต-Value-Growth-Stock.html


Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา


Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา

ความเสี่ยงมีทั้ง 'ควบคุมได้' และ 'ควบคุมไม่ได้' อย่างไรก็ดีความเสี่ยงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากอยู่องค์กรฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันชื่อ ERM - Enterprise Risk Management เป็นการสยบความเสี่ยงด้วยการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบชัดเจน หาใช่ 'สามัญสำนึก' ที่มี

และ 'ใช่' ที่ความพลาดพลั้งส่วนใหญ่มักเกิดจากหลายปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดหมายและการควบคุม แต่ที่ยิ่งกว่า 'ใช่' ก็คือ เมื่อประมาทเลินเล่อ เมื่อไหร่มักเป็นเรื่อง (ทุกที)

ว่ากันว่าองค์กรธุรกิจไทยเองก็ตระหนักถึงบทเรียนความสูญเสียซึ่งเกิดจากการขาดการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยเฉพาะในวิกฤติต้มยำกุ้งของไทย เมื่อปี พ.ศ.2540 และได้ลุกขึ้นมาบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจังจนกลายเป็น Best Practice เป็นโรลโมเดลที่ควรค่าให้องค์กรอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้เรียนลัด

เพราะแม้รู้อยู่เต็มอกว่าการบริหารความเสี่ยงคือ 'ยาดี' คือ หนทางแห่งการอยู่รอด คือการผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่หากจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งไม่แน่ที่องค์กร ธุรกิจหลายแห่งจะต้องครวญเพลง 'จังซี่มันต้องถอน' ของ ปอยฝ้าย มาลัยพร ท่อนที่ว่า 'มันเป็น เงอะๆ งะ งะ'

โชคดีที่ในปีนี้ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดฟอรัมใหญ่ 'TLCA Annual Risk Management Conference 2010' ขึ้นเป็นครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์

ความพิเศษของงานนี้ก็คือ จะมีซีอีโอ บอร์ดบริหาร ซีเอฟโอ ขององค์กรธุรกิจชั้นนำมาเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง อาทิ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, อนนต์ สิริแสงทักษิณ, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ธีรพงศ์ จันศิริ, ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, หม่อมหลวงผกาแก้ว บุญเลี้ยง, เทวินทร์ วงศ์วานิช, ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์, ปรารถนา มงคลกุล ฯลฯ ทั้งยังมีเวิร์คชอปสอน ERM โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริงอีกด้วย

คลิกดูรายละเอียดที่ www.thailca.com หรือโทร 02 229 2524, 2526

แต่ก่อนจะถึงวันงาน 'กรุงเทพธุรกิจ' ขอเรียกน้ำย่อยด้วยบทสัมภาษณ์ 3 ซีอีโอ และ 2 ซีเอฟโอ ได้แก่ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, ธีรพงศ์ จันศิริ, ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ และปรารถนา มงคลกุล สะท้อนมุมคิดอะไรคือความเสี่ยงประจำปี 2010 ตลอดจนวิธีบริหารความเสี่ยงที่สัมฤทธิผล

ซีอีโอ..แอคชั่น

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.บ้านปู กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงในวันนี้ทำดีขึ้นเยอะ เหตุผลก็เพราะผู้บริหารเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

มีความเสี่ยง 6 ข้อที่ซีอีโอท่านนี้มองว่าคือความเสี่ยงทั้งในวันนี้และอาจตลอดไป นั่นคือ 1.การกำหนดแผนและกลยุทธ์ธุรกิจที่ผิดพลาด 2.การไม่สามารถปฏิบัติสำเร็จได้ตามแผนและหมายถึงการปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย 3.ความขัดแย้งทางการเมือง 4. การเปลี่ยนแปลง กฎ ระเบียบ ปฏิบัติต่างๆ 5.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และ 6.พฤติกรรมผู้บริโภค

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากการบริหารล้มเหลวก็คือ ผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท ทำให้รายได้ กำไรลดลง ตลอดจนชื่อเสียงที่สั่งสมก็เสียหาย

บมจ.บ้านปู จึงไม่คิดจะเปิดช่องให้กับความเสี่ยง องค์กรแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อคอยดูแลติดตามเรื่องความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยชนินท์นั่งแป้นเป็นประธานด้วยตัวเอง

เขายอมรับว่าการบริหารความเสี่ยงก็หนีไม่พ้นปัญหา 'ทำไม่ได้อย่างที่คิด' ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว Organization Chart จึงมีความสำคัญเพราะที่สุดคนกับงานเป็นอะไรที่ต้องเหมาะเจาะสอดรับกัน

การบริหารความเสี่ยง ช่วยให้การคาดการณ์ทางธุรกิจมีความแม่นยำขึ้น ช่วยทำให้การวางแผนธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้รัดกุมขึ้น และไม่ทำให้เกิดสเต็ปธุรกิจที่ช้าหรือเร็วเสียจนกลับกลายเป็นการทำลายแทนที่จะทำให้บริษัทเดินหน้ากลับก้าวถอยหลัง

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงสำหรับเขา คือการมองโลกในแง่ร้ายมองแต่ภาพ Worst-Case Scenario เท่านั้น

ดังภาษากวีที่เคยผ่านตา 'โลกกล่นเกลื่อนไปด้วยความทุกข์'

"คนเรามักมองมุมบวก ไม่ได้มองมุมลบ ซึ่งคือความเสี่ยง แต่มันเป็นมุมที่ช่วยทำให้เราเห็นว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น และนำไปสู่การเตรียมตัว เตรียมพร้อมป้องกันได้ทัน"

'การไม่เก็งกำไร' คือแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงของซีอีโอท่านนี้

โดยนำมาใช้ในทุกเรื่อง อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ตลอดไปจนถึงวัตถุดิบที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ 'ขายปลา' ซึ่งแม้ว่าตลอดมาจะต้อง เผชิญหน้ากับความผันผวนอย่างหนักแต่เขาก็ไม่เคยใช้วิธีซื้อเยอะๆ ตอนราคาถูก แต่จะกำหนดซื้อทุก 60 วัน

ที่สำคัญวินัย และวิธีการเช่นนี้ทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโตเป็นพิเศษในยามเกิดวิกฤติ ทั้งๆ ที่การเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาอันแสนสั้นไม่ใช่เป้าหมายของซีอีโอท่านนี้

เขาบอกว่าโลกธุรกิจยุคนี้คือยุค 'แพ้คัดออก' ดังนั้นทุกบริษัทต้องผูกปิ่นโตไว้กับการบริหารความเสี่ยง

ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ขีดกรอบให้พนักงานเดิน และอย่าลืมถึงเรื่องการติดตาม และการตรวจสอบด้วย

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม มองว่าถ้าส่วนใหญ่เกิดเรื่องร้ายแล้วกลับกลายเป็นดีก็คงไม่มีใครสนใจมองเรื่องการบริหารความเสี่ยง แต่เพราะมันมักจะเป็นเรื่องร้ายที่นับวันจะยิ่งร้ายลึก..เสียจนแทบทนพิษบาดแผลไม่ไหว

เขาบอกว่าบางจากนั้นทำธุรกิจที่มีการซื้อการขายแบบ 'เรียลไทม์' เวลานอนก็ยังต้องทำงาน เรียกว่าความเสี่ยงนั้นมาหายใจอยู่รดต้นคอเลยทีเดียว

ปัจจุบันเขาได้จัดเกรดการบริหารความเสี่ยงของบางจากไว้ที่ B+ ...ทำไมยังไม่ถึง A (คาดว่าจะได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า) ก็ได้ฟังเหตุผลว่าเพราะพนักงานยังไม่เข้ามามีส่วนร่วมเต็มร้อย

การบริหารความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องของ 'เรา' ตั้งแต่ผู้ที่นั่งอยู่ระดับหัวแถวไปจนถึงหางแถว ถ้าทุกคนช่วยกันคิดความเสี่ยงก็ไม่มีวันหลุดรอดสายตา และ 'หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว'

เขาบอกว่าได้เตรียมประสบการณ์ดีๆ เพื่อแชร์ให้กับผู้ที่เข้าฟังการสัมมนาในครั้งนี้ ทฤษฎีอ่านในหนังสือได้แต่จะรู้ซึ้งได้มากกว่าหากได้ฟังวิธีปฏิบัติจริง

เมื่อบริหารความเสี่ยงเป็นและบริหารเก่งนั่นหมายถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20100209/99448/Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา.html


01 มีนาคม 2553

ใครเห็นแฟนสำคัญกว่าแม่

ใครเห็นแฟนสำคัญกว่าแม่

อ่านแล้วอย่าร้องเหมือนเรานะ...


ความรู้สึกของน้องคนหนึ่งที่บรรยายออกมาจากใจ


ในขณะที่.... ผมก็เป็นเช่นเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป เรียน เที่ยว นอน กิน

ดึกๆ ผมก็โทรคุยกับแฟนของผม

ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มันก็เป็นกิจวัตรประจำวันของผม

และผมก็เชื่อว่าใครๆ เค้าก็ทำแบบนี้กัน

' จ้า ตัวเอง วันนี้กินข้าวรื้อยาง '

' กินกับอะไรบ้าง แล้วตอนกินตัวเองคิดถึงเค้ามั้ยเนี่ย '

' รู้มั้ยตัวเอง ถ้าเค้าเป็นผีเนี่ย เค้าอยากเป็นกระสือที่รักจะได้เห็นใจไง '

' ตัวเองวางก่อนดิ ก่อนดิ '

ประโยคต่างๆ ที่ผมได้คิดและคัดสรรเตรียมพร้อมมาต่างๆ ก่อนโทร

ผมยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ตอนดึกไปกับการคุยโทรศัพท์

ระยะเวลาอันผมได้ใช้ไปในแต่ละครั้งนั้น

พอรู้สึกอีกทีก็ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว

แต่ผมก็ไม่ชอบนะ หากใครจะมาว่าผมไร้สาระ

ก็ไม่เห็นหรอคนส่วนใหญ่เค้าก็ทำกัน

' เอ้อ เกือบลืมไปอีกอย่าง กิจวัตรอีกอย่างนึงของผมก็คือ

แม่ของผมมักชอบโทรหาผมทุกวัน ' ' ตอนนี้ลูกอยู่หอรึยัง '

' เย็นนี้กินข้าวอิ่มมั้ย ' ' วันนี้เรียนเป็นยังไงบ้าง ' ' อย่าไปเที่ยวที่ไหนไกลนะ '

โธ่!คำถามเดิมๆ ผมก็ตอบไปแบบเดิมๆ

แม่ผมก็ไม่เบื่อซักที ยังคงโทรหาผมเป็นประจำ

โชคดีที่ผมพยายามตัดบทคุย

ผมกับแม่น่ะคุยกันไม่กี่นาทีก็วางแล้ว

ก็มันไม่มีอะไรจะคุยจะให้ผมทำยังไง

จนกระทั่งวันนั้น ' ตัวเองตอบเค้าได้รึยังว่ารักเค้ามั้ย '

' เร็วๆสิ เค้ายังอุฒส่าห์บอกรักตัวเองไปแล้วนะ '

' แล้วยังจะใจร้ายไม่บอกรักเค้าอีกหรอ '

ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ เสียงจากโทรศัพท์บอกผมว่ามีสายซ้อน

ผมมองไปที่หน้าจอมันขึ้นชื่อว่า 'Home'

' โธ่ แม่โทรมาทำไมตอนนี้เนี่ย กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเลย '

ผมไม่สลับสายผม ผมยังคงคุยกับสุดที่รักของผมต่อไป

เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่แม่จะคุยกับผมก็คงเป็นประโยคเดิมๆ

' และนั่นก็เป็นโอกาสสุดท้าย ที่ผมจะมีโอกาสฟังเสียงของแม่ '

หลังจากนั้นไม่นานทางญาติของผมโทรมาแจ้งผมว่า

เมื่อคืนนี้บ้านของผมถูกขโมยเข้า และแม่ของผมขัดขืน

และได้ต่อสู้กับโจร จึงถูกโจรใช้มีดแทงเข้าที่ท้อง

แม่เสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

ญาติของผมเล่าอีกว่าตอนไปพบศพแม่นั้น

ในมือของแม่กำโทรศัพท์ไว้แน่น

และเบอร์โทรออกล่าสุดของเธอไม่ใช่โทรแจ้งตำรวจ

หรือเรียกรถพยาบาล แต่แม่เลือกที่จะโทรหา ' ผม '

สิ่งสุดท้ายในชีวิตที่แม่ผมเลือกที่จะทำคือ โทรศัพท์หาผมเพื่อฟังเสียงของผม

วินาทีนั้นน้ำตาของผมไหลอาบแก้ม ผมพูดอะไรไม่ออก มือและตัวของผมสั่น

วันนั้นผมเลือกที่จะคุยกับแฟนผม ดีกว่าที่จะคุยกับแม่ของผม

ผู้หญิงคนเดียวในโลก ที่คุยกับผมเป็นคนแรกในชีวิต

ผู้หญิงคนเดียวที่ผม สามารถที่จะคุยกับเธอได้ทุกเวลา

โดยที่ผมไม่ต้องเตรียมบทพูดใดๆ ไม่ต้องกังวลว่าเธอจะประทับใจหรือไม่

ไม่ต้องมีมุข ไม่ต้องมีคำหวานใดๆ

คนเดียวในโลก ที่โทรมาหาผมเพียงแค่ฟังผมพูดประโยคเดิมๆ

คนเดียวในโลก ที่ไม่ว่าโทรศัพท์เธอจะโปรโมชั่นแพงแค่ไหนก็ยังโทรหาผม

' และ คนเดียวในโลก ที่เลือกคุยกับผมในวินาทีสุดท้ายในชีวิต '

ในบางครั้งประโยคที่ว่า ' ไม่มีคำว่าสาย หากเราคิดที่จะแก้ตัว '

มันก็ไม่เป็นความจริง ' เพราะบางปรากฏการณ์ในโลก เกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว '

อาจเป็นเพราะเวรกรรมของผม

หลังจากนั้นไม่นานแฟนผมที่ผมใช้เวลาคุยกับเธอวันหลายๆ ชั่วโมงก็ทิ้งผมไป

วันนี้ผมเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น

หลายๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่ทำ มิได้หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

เพราะตัวเราเท่านั้นที่เป็นผู้ต้องรับผลการกระทำของเราเอง

' เราจะรู้ว่าสิ่งใดสำคัญ ก็ต่อเมื่อเราต้องเสียมันไป '

ทุกวันนี้ผมนั่งมองโทรศัพท์

รอที่จะตอบคำถามเดิมๆ ให้ผู้หญิงคนหนึ่งฟัง

แต่ผู้หญิงคนนั้นคงไม่มีอีกแล้ว





' ในเมื่อเรามีความรักอันเต็มเปี่ยมจากครอบครัว

แล้วทำไมต้องไปขอเศษเสี้ยวจากใคร '


หรูหราในนิยามใหม่ โดย หนูดี วนิษา เรซ

หรูหราในนิยามใหม่ โดย หนูดี วนิษา เรซ

โลกเปลี่ยนไวมาก หลับตาไปแว้บเดียว ลืมตามาอีกที สินค้าใหม่เทรนด์ใหม่เกิดกันเหมือนเห็ดที่โตได้ชั่วข้ามคืน ของแพงหรูหราที่ซื้อมาไม่นานก็ตกรุ่น ถ้าเรามัวแต่คิดแบบเก่า ก็จะโดนสอนบ้าง หยอกบ้างว่า คิดแบบนี้ “เอาต์” แล้ว หรือ คิดแบบนี้ระวังโดนเอาเปรียบนะ ระวังจะไม่ทันคน ไม่ทันเกมธุรกิจนะ

ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องสิ่งของและเรื่องแนวคิดแล้วล่ะก็ หนูดีว่า หลายเรื่องก็ควรจะ “เอาต์” ได้แล้วค่ะ โดยเฉพาะวิธีคิดและการใช้ชีวิตกับทรัพยากรรอบตัวเรามากมายในรูปแบบแสนหรูหรายุคเก่า ที่ของแพง ของหายาก ของที่ต้องส่งกันข้ามโลก ตียี่ห้อหรู จึงจะเรียกกันว่า “ของหรูหรา” ที่ช่วยให้คนใช้ดูดีขึ้นทันตา

ที่โลกของเราต้องแบกรับภาวะมลพิษต่างๆ จนคนทั่วทุกมุมโลกต้องออกมาช่วยกันประกาศให้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อนนั้น ปัจจัยหลักใหญ่อันหนึ่งก็คือการตีความคำว่า “หรูหรา” ผิดไปอย่างมากของคนรุ่นอดีต ทำให้เราต้องปรับ เปลี่ยนโลก เพื่อสนองความต้องการของตัวเองในแบบที่สังคมยอมรับว่า หรูหราและเท่

ของกินหรูหราในอดีตคือ บรรดาของหายาก หนวดเต่าเขากระต่าย หูฉลาม รังนก ของแพงและมีน้อยทั้งหลาย ซึ่งไปไขว่คว้าเอามาด้วยทรัพยากรมหาศาล แถมเตรียมการกันเป็นเวลานาน เพื่อกินหมดในเวลาอันรวดเร็ว หรือ อาหารที่ได้มาด้วยความป่าเถื่อนทารุณกรรมอย่างไม่น่าเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตจะทำร้ายกันได้ขนาดนี้

ใครเคยเห็นสารคดีการตัดหูของฉลามที่ข้างกาบเรือแล้วทิ้งตัวเป็นๆ ที่เลือดโชกลงทะเลหน้าตาเฉย ปล่อยให้ตายในน้ำเอาเอง ก็จะกินหูฉลามไม่ลงไปตลอดชีวิตอย่างที่หนูดีเป็นมาแล้ว ส่วนความป่าเถื่อนของการนำรังนกมาใช้และความซ่อนเงื่อนของสัมปทานเลือด ก็เป็นเรื่องที่รับรู้แล้วทำให้ได้แต่คิดว่า กินวิตามินหรือใช้เลเซอร์รักษาผิวเอาดีกว่า

ของกินหรูหราในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เดี๋ยวนี้บอกใครว่าชอบกินหูฉลามอาจโดนเขม่น แต่ถ้าบอกดื่มกาแฟที่เป็น Fair trade หรือการซื้อมาบนพื้นฐานความยุติธรรมกับเกษตรกรท้องถิ่นก็มักจะได้รับการมองด้วยสายตาชื่นชม ยิ่งถ้าเป็นอาหารสุขภาพ หรืออาหารที่ได้มาจากการปลูกโดยไร้สารเคมีในแปลงเกษตรของชาวบ้าน ยิ่งดูดีเข้าไปใหญ่

คำว่า “หรูหรา” ที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินเริ่มเปลี่ยนไปและเป็นการเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นด้วย เพราะหมายถึงที่มาของอาหารไม่ทำร้ายใครและผลดีที่ได้กับสุขภาพแบบเต็มๆ และการกินอาหารสุขภาพไร้สารราคาไม่ถูกเลย ว่าไปแล้วแพงกว่าอาหารจานด่วนแบบเทียบกันไม่ได้

ส่วนการศึกษาที่ดีดูเป็น “ของหรูหรา” มาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่การศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ดูแค่ว่า จบประเทศอะไรและจบจากที่ไหนแค่นั้นอีกแล้ว แต่ดูว่าเขาใช้ชีวิตเป็นและประณีตแค่ไหน อ่านเยอะแค่ไหน ทันข้อมูลแค่ไหน คนที่ยังยอมใช้ชีวิตแบบไม่เท่าทันและทำร้ายธรรมชาติจึงดูเป็นของเชยไปเสียแล้วในยุคนี้

เรื่องการซื้อของแบรนด์เนมก็เช่นกัน หากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อน การมีกระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นคลาสสิคสักใบเป็นเรื่องเก๋ ยิ่งถ้าใครสะสมมีรุ่นละหลายสียิ่งดูดี แต่เดี๋ยวนี้แค่มีเงินพอซื้อก็ไม่พอที่จะทำให้เราดู “หรูหรา” อีกต่อไป เพราะคนซื้อเดี๋ยวนี้ไม่ธรรมดา เพราะการเช็คข้อมูลดูก่อนว่า บริษัทนี้ตัดเย็บกระเป๋าที่ประเทศไหน มีการกดขี่ค่าแรงคนงานหรือไม่ กระบวนการฟอกหนังทำลายธรรมชาติแค่ไหน เขาจ่ายภาษีถูกต้องหรือเปล่าเป็นเรื่องธรรมดาที่หาอ่านเพื่อเช็คข้อมูลได้ไม่ยาก

ของหรูหรายุคนี้จึงไม่ใช่กระเป๋าที่ค่าเย็บรวมค่าขนส่งแล้วไม่ถึงหนึ่งในห้าของราคาขาย แต่กลายเป็นของที่มีน้อยชิ้น ตัดเย็บประณีตคุ้มราคาและมีที่มาที่ไปที่โปร่งใส ถือแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังเอาเปรียบทั้งคนงานในโลกที่สามและเอาเปรียบเงินที่หามาได้ยากของตัวเอง ของหรูหราในปัจจุบันจึงมีข้อเรียกร้องต่างจากในอดีตอีกหลายข้อ

ในโลกปัจจุบันที่ความสุขกับความฉลาด ดูจะเป็นของที่จับมือเดินคู่กันไปได้แบบไม่ขัดเขิน พูดง่ายๆ ว่าเขามักมาแบบแพ็คคู่ และการคิดตีความคำว่า “หรูหรา” เสียใหม่ ก็น่าจะช่วยให้เรามีความสุขได้บนพื้นฐานของความเท่าทันข้อมูลใหม่ ทำให้เราสุขและโลกใบนี้สุขได้ไปพร้อมกันได้อย่างไม่ยากเย็นเกินไป

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20091117/86721/หรูหราในนิยามใหม่.html


เศรษฐีมือเปล่า แต่สมองเด็ม โดย หนูดี วนิษา เรซ


เศรษฐีมือเปล่า แต่สมองเด็ม โดย หนูดี วนิษา เรซ

ถ้าเราต้องตั้งต้นธุรกิจด้วยเงินแค่ 5 เหรียญสหรัฐ เราจะทำธุรกิจอะไรดีคะ มีด้วยหรือที่เงินแค่นี้จะเอามาใช้ทำธุรกิจอะไรได้ แต่อย่างน้อยได้เริ่มต้นด้วยเงินสักนิดหนึ่ง ก็ยังดีกว่าไม่มีแต้มต่อเลยใช่ไหม


ถ้าเราต้องเริ่มต้นชีวิตด้วยเงินเต็มบัญชีธนาคารกับสมองเปล่าๆ หนึ่งก้อน เทียบกับบัญชีที่ไร้เงินแต่สมองเราเต็มไปด้วยไอเดียดีๆ เราจะเลือกอะไรคะ เลือกยากเนอะคะ บางคนอาจบอกว่าขอทั้งคู่ไม่ได้หรือ

สมมติว่าขอไม่ได้ล่ะ ให้เลือกได้อย่างเดียว เลือกอะไรดี

มาดูโจทย์ธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกันดีกว่า

มีเงินให้ห้าเหรียญ ให้เวลาประชุมกันไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ ให้เวลาสองชั่วโมงสำหรับปฏิบัติการตามแผน แต่ต้องทำกำไรให้ได้มากที่สุด เป็นเราจะทำอะไร? ถ้าเป็นคุณผู้อ่านเจอโจทย์แบบนี้จะทำอย่างไรดี

ศาสตราจารย์ทีนา ซีลิก สอนวิชานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้โจทย์นี้กับนักศึกษาที่ถูกแบ่งเป็น 14 ทีม ทุกทีมต้องแยกย้ายกันไปหนึ่งสัปดาห์แล้วกลับมารายงานหน้าชั้นเรียนเป็นเวลา 3 นาที

มาดูสิ่งที่นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแต่ละทีมเลือกทำกัน

จากเงินห้าเหรียญ กลุ่มหนึ่งเอาเงินจำนวนน้อยนิดไปซื้อมะนาว น้ำตาลและมาทำน้ำมะนาวขายหน้ามหาวิทยาลัย

กลุ่มต่อมารับจ้างเติมลมยางรถจักรยานหน้ามหาวิทยาลัยคิดเงินคันละหนึ่งเหรียญจนกระทั่งพวกเขาค้นพบว่า ถ้าขอเป็นเงินบริจาคจะได้เยอะกว่าเลยเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคแทน

ส่วนกลุ่มที่สามได้เงินมากกว่า และคิดสร้างสรรค์ได้ไม่เลว พวกเขาตัดสินใจเลือกทำงานในคืนวันศุกร์และให้เพื่อนผู้ชายขับรถพาสาวๆ ไปทิ้งไว้หน้าร้านอาหารที่คนแน่นแล้วให้ไปจองคิวตามร้านอร่อยที่ลูกค้าต้องยืนรอกันเกือบชั่วโมง พอได้คิวแล้วก็เอาคิวไปขายให้ลูกค้าคนอื่นที่เพิ่งมา คิดเงินคิวละ 20 เหรียญ กลุ่มนี้หาเงินได้หลายร้อยเหรียญในเวลาสองชั่วโมง เพราะใครก็ไม่อยากรออาหารอีกหนึ่งชั่วโมง

ส่วนกลุ่มที่ชนะเลิศหาเงินได้ถึง 650 เหรียญ เป็นกำไรถึง 130 เท่าตัว และที่น่าทึ่งคือ พวกเขาไม่ได้ใช้เงินห้าเหรียญนั้นเลย เขาทำได้อย่างไร???

หลังจากประชุมกันนาน ทุกคนในกลุ่มโหวตว่า พวกเขาจะ “ขายเวลา”

นักศึกษากลุ่มนี้เฉลยว่า พวกเขานั่งประชุมกันนานว่า จะทำอะไรกันดี บางคนบอกไปซื้อลอตเตอรี่ดีกว่า ไปลาสเวกัส ฯลฯ

แต่ในที่สุดทุกคนสรุปว่า ต้นทุนที่ดีที่สุดที่พวกเขามีไม่ใช่เงิน 5 เหรียญ แต่เป็น “เวลา 3 นาที” สำหรับการนำเสนอแผนธุรกิจหน้าห้องเรียนที่เต็มไปด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์จำนวนเป็นร้อยๆ คนที่นั่งฟังโดยไม่ลุกไปไหน

นักศึกษาจึงหาบริษัทที่ต้องการขายสินค้าแล้วขายเวลา 3 นาทีที่ตัวเองต้องพรีเซ็นต์ให้กับบริษัทที่ต้องการเวลา 3 นาทีโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

พอถึงวันจริง นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไรนอกจากฟังเพื่อนพรีเซ็นต์และพอถึงเวลาของตัวเอง ก็ให้บริษัทที่ตกลงกันไว้มาพรีเซ็นต์สินค้า เสร็จแล้วจ่ายเงิน 650 เหรียญสำหรับเวลา 3 นาทีให้กับทีมนักศึกษาที่ขายเวลาให้

บริษัทยิ้ม นักศึกษายิ้ม และอาจารย์ยิ้มมากกว่า ที่ลูกศิษย์คิดได้นอกกรอบเหลือเชื่อ

พูดถึงปรากฏการณ์ “วิน วิน วิน” ก็คงเป็นแบบนี้เอง

ในปีเสือทองที่ใครพากันกลัวว่าเงินทองหายาก ลำบากนักหนา กลัวว่าไม่มีเงินมาต่อเงิน หนูดีว่า ต่อให้เราไม่มีเงินสักบาท แต่ขอให้มีกำลังใจไหวพริบเต็มเปี่ยม มีสมองอัดแน่นไปด้วยไอเดียดี แล้วปีนี้ก็คงเป็นอีกปีที่งดงาม

ยิ่งภายนอกยากเท่าไร ยิ่งถือเป็นเวลาท้าทายสมองของเราเองเท่านั้น

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20100221/101229/เศรษฐีมือเปล่า-แต่สมองเต็ม.html


ความเสี่ยงของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดย ดร นิเวศน์


ความเสี่ยงของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดย ดร นิเวศน์

นักลงทุนที่รักความปลอดภัย แต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีมักจะมองหา กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เหตุผล ก็คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของหรือถือสิทธิการเช่าระยะยาวในอสังหาริมทรัพย์ที่มักจะมีรายได้อยู่แล้ว รายได้ที่ได้ก็มักเป็นรายได้ที่ค่อนข้างจะ “แน่นอน” เพราะมักเป็นรายได้ค่าเช่า “ระยะยาว” ลูกค้าที่มาเช่าก็มักจะ “อยู่ยาว” และที่สำคัญ กำไรที่อสังหาริมทรัพย์ทำได้นั้น จะส่งต่อให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี คิดแล้วเป็นผลตอบแทนปีละประมาณ 7-8% หรือมากกว่านั้น และนี่เป็นผลตอบแทนในปีแรกๆ เท่านั้น อนาคตค่าเช่าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนก็อาจจะสูงขึ้น ฟังดูแล้วมีแต่เรื่องดีๆ ความเสี่ยงในการลงทุนต่ำกว่าหุ้นมาก ขณะที่ผลตอบแทนดูเหมือนจะพอๆ กัน แต่ผมเองก็ยังมีข้อที่ยังไม่ค่อยแน่ใจตามประสา Value Investor ที่ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ และต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับอะไรที่ “ดีเกินไป” ข้อสังเกตและความคิดของผม ก็คือ

หนึ่ง ถ้ามันดีมากจริงๆ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำไมเอาทรัพย์สินมาขายให้กองทุน เก็บเอาไว้ “กินเอง” ไม่ดีกว่าหรือ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ก็มีข้อโต้เถียงได้ว่า เจ้าของอาจจะต้องการเงินเพื่อเอาไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ และไม่อยากจะกู้เงินมากเกินไป นอกจากนั้น การขายเข้ากองทุนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล ซึ่งทำให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดเจ้าของก็มักจะยังตามไปถือหน่วยลงทุนประมาณ 30% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการลงทุนที่ดีจริง และที่เขาขายนั้นก็เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและเรื่องของการระดมเงินเป็นหลัก ไม่ใช่การขายเพื่อทำกำไรกับคนที่เข้ามาถือหน่วยลงทุน ในความเห็นของผม ผมคิดว่าข้อโต้เถียงนั้นก็มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะมีหลายโครงการเช่นกันที่เจ้าของโครงการนั้น ขายโครงการในราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรเป็นให้กับคนถือหน่วยลงทุน โดยวิธีการที่ซับซ้อนและผู้บริหารกองทุนก็ "ตามไม่ทัน"

สอง เจ้าของโครงการนั้น หลังจากที่ขายโครงการเข้ากองทุนแล้ว เขาก็ยังเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นอยู่โดยมีสัญญาผูกพันยาวนาน หลายๆ โครงการ เจ้าของโครงการก็เป็นผู้เช่าหลักเอง ดังนั้น มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า Conflict of Interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งกัน นั่นคือ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร เขาควรที่จะเรียกค่าเช่าให้สูง เพื่อให้กองทุนมีกำไรมาก แต่ในฐานะผู้เช่า เขาก็ต้องการเช่าในราคาที่ต่ำ โดยธรรมชาติ เขาก็จะต้องดูว่าผลประโยชน์ทางไหนจะมากกว่า โดยทั่วไป ผมคิดว่าผลประโยชน์ในแง่ของการเป็นผู้เช่าจะสูงกว่าผลประโยชน์ที่เป็นเจ้าของหน่วยลงทุนเพียง 30% ดังนั้น ความเสี่ยงของผู้ถือหน่วยลงทุน ก็คือ หลังจากที่สัญญาเช่ารอบแรกที่มักจะต้อง “ยุติธรรม” กับกองทุน หมดลง การต่อสัญญาใหม่นั้นผมก็ไม่ใคร่แน่ใจว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือไม่

สาม สัญญาเช่ารอบแรกตอนขายโครงการให้กับกองทุนนั้น เจ้าของโครงการก็มักจะต้องทำให้มันดูดีมาก เช่น มีคนเช่าค่อนข้างเต็ม รายได้จากค่าเช่าค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ผลตอบแทนถึง 7-8% ขึ้นไป และถ้าโครงการทำไม่ได้ในปีแรกๆ บ่อยครั้งเจ้าของโครงการยังมีการ “รับประกันรายได้ขั้นต่ำ” จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมั่นใจ อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2-3 ปี ว่า จะได้ผลตอบแทนอยู่บ้างถ้าโครงการทำรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มักไม่มองอะไรไกลๆ ก็จะสบายใจและยอมควักเงินซื้อหน่วยลงทุนนั้นในราคาที่อาจจะสูงเกินไป

สี่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวนไม่น้อยเป็นสัญญาเช่าระยะยาว หรือที่เรียกว่าเป็นการ “เซ้ง” ในช่วงที่สัญญายังอยู่ ผลตอบแทนก็มักจะค่อนข้างดี แต่เมื่อหมดสัญญาเซ้งซึ่งอาจจะอีก 15-20 ปี ทรัพย์สินนั้นก็จะต้องตกเป็นของเจ้าของที่ดินเดิม มูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็หมดลงหรือเหลือน้อยมาก และแม้ว่าจะมีคำปลอบใจว่าอาจจะต่อสัญญาได้ แต่การต่อสัญญานั้น ก็คงต้องจ่ายค่าเซ้งใหม่ซึ่งจะเป็นเงินมหาศาล ดังนั้น การได้ต่อสัญญาจึงมีความหมายน้อยมาก ความเสี่ยงเรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ยังอยู่ไกล ดังนั้น นักลงทุนหลายคนก็มักจะไม่ค่อยสนใจ แต่สำหรับ Value Investor แล้ว เราสนใจ เพราะที่ดินนั้น ถ้าเป็นของเราหรือของกองทุน ยิ่งเวลาผ่านไปมูลค่ากลับมากขึ้น แต่ถ้าเป็นสัญญาเซ้งยิ่งนาน มูลค่าหรือราคากลับลดลงจนเป็นศูนย์เมื่อหมดสัญญา

ห้า ในช่วงที่มีการขายโครงการเข้ากองทุนนั้น หลายๆ โครงการเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมตัวอาคารและโครงสร้างต่างๆ นั้นจะมีน้อยมาก นั่นทำให้กำไรของโครงการหรือกองทุนจะมีมากกว่าปกติ และดังนั้น ราคาโครงการก็สามารถตั้งไว้สูงได้ โดยที่ทำให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนยังได้ผลตอบแทนปีละ 7-8% แต่กำไรนี้จะยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจหากว่าในเวลาต่อมาโครงการจะต้องเริ่มมีการตกแต่งหรือซ่อมแซมอาคารใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อโต้แย้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเช่าก็อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น กำไรก็จะยังคงเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นนี้ เรายังไม่ทราบ เพราะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดยังค่อนข้างใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอก

หก ความเสี่ยงทางด้านการตลาด นั่นคือ จำนวนคนเช่าและราคาค่าเช่านั้น แม้ว่าบางโครงการเช่น โครงการห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงอาจจะมีความเสี่ยงน้อย แต่หลายๆ โครงการก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรทีเดียว ประเด็น ก็คือ โครงการที่เขาจะนำมาขายเข้ากองทุนนั้น เขาก็จะต้องเอาโครงการหรือทรัพย์สินที่มีคนเช่าเต็ม หรือค่อนข้างเต็มและได้ค่าเช่าค่อนข้างจะดีอยู่แล้วมาขาย ซึ่งจะทำให้เขาขายได้ในราคาที่ดี แต่ใครจะไปรู้ว่าอนาคตนั้นจะดีต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสัญญาเช่าหมดลง เหนือสิ่งอื่นใด นี่ก็อาจจะคล้ายๆ กับหุ้น IPO หรือหุ้นเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่เจ้าของ “แต่งตัว” หรือทำให้กำไรของบริษัทดูดีผิดปกติ เพื่อจะได้นำมาขายให้คนอื่นในราคาที่สูงเกินพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ต้องดูให้แน่ใจว่าอนาคตของทรัพย์สินจะหาคนเช่าได้แน่นอนในราคาที่ไม่ลดลง

สุดท้ายก็คือความเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ว่า จะมีโอกาสที่ทรัพย์สินจะถูกรอนสิทธิหรือไม่ รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจจากโครงการอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตและถ้ามีจะกระทบกับทรัพย์สินของกองทุนอย่างรุนแรงได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ผมพอจะนึกออก แต่ที่จริงแล้ว ยังอาจจะมีอะไรต่างๆ ที่เรายังนึกไม่ถึง อย่าลืมว่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างใหม่ ดังนั้น ความเสี่ยงจึงมากกว่าหลักทรัพย์อย่างอื่น ว่าที่จริงเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีกองทุนหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว และผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ปัญหาสุดท้าย ข้อสรุปของผม ก็คือ ถ้าจะซื้อ เราควรซื้อกองทุนอสังหาฯ ที่เราเข้าใจธุรกิจของโครงการจริงๆ และถ้าจะให้ดีเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอง ไม่ใช่สัญญาเช่าระยะยาว

from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100209/99471/ความเสี่ยงของกองทุนอสังหาริมทรัพย์.html


รู้เท่าทัน “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”


รู้เท่าทัน “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”

เป็นเรื่องแปลกอยู่ไม่น้อย (แม้แต่ตัวผมก็ยังแปลกใจ) เพราะอะไรเรื่องราวของ “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” ถึงไม่เคยสูญพันธุ์ พอเป็นข่าวคึกโครมขึ้นมาที เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดำเนินการ เรื่องก็จะค่อยๆ เงียบๆ กันไป แต่พออีกสักพักก็จะปรากฏเป็นข่าวขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับตัวเลขความเสียหายที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสิบเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาท

สมัยก่อนก็แชร์น้ำมันแม่ชม้อย แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ เสมาฟ้าคราม มาเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ก็กรณี “กรีนแพลนเน็ต” ซึ่งศาลเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษไป รวมถึงล่าสุดกรณีที่เกิดข่าวคึกโครมในทุกรายการข่าวทีวีที่ต้องรอพิสูจน์ตัวเองทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเป็นระดับโลกที่ลือลั่นสุดๆ คงหนีไม่พ้นกรณีนายเบอร์นาร์ด มาดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหุ้นแนสแดกของสหรัฐอเมริกา (National Association of Securities Dealers Automated Quotations: NASDAQ) ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หลังจากหลอกลวงว่ากองทุนที่ตัวเองดูแลอยู่นั้นมีผลตอบ แทนมหาศาล แต่ความแตกในภายหลังว่านายมาดอฟฟ์ใช้วิธีนำเงินจากนักลงทุนรายใหม่ไปจ่ายให้แก่นักลงทุนรายเก่า หมุนเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้นำเงินไปลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น

ล่าสุดตอนที่ถูกเอฟบีไอ สหรัฐอเมริกา ดำเนินคดี ตัวเลขความเสียหายมโหฬารถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.67 แสนล้านบาททีเดียว

ถึงแม้จะเคยนำเรื่อง “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” มาถ่ายทอดไว้บ้าง แต่ในเมื่อเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ในสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิดก็ยังเกิดขึ้น ขนาดอดีตประธานของแนสแดกที่ได้รับความน่าเชื่อถือยังลงมาทำเรื่องนี้เสียเอง จึงขอนำเรื่องนี้มาสรุปเป็นข้อๆ อีกครั้ง

ทุกครั้งที่มีผู้ขอให้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจ “ขายตรง” กับ “ธุรโกงแชร์ลูกโซ่” ผมจะมีข้อสังเกตง่ายๆ ดังนี้ครับ

ข้อแรก ธุรกิจขายตรงไม่ใช่การลงทุนทางการเงินที่มี “ผลตอบแทนสูงๆ” กลับคืนอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาธุรโกงแชร์ลูกโซ่มักนำเรื่องนี้มาชักชวนและกล่าวอ้างอยู่เสมอ ที่พบบ่อยๆ คือ พวกนี้จะเรียกเก็บค่าสมัครสูงๆ (ในหลากหลายรูปแบบ) โดยมีเงื่อนไขล่อใจว่าถ้าไปหาผู้สมัครเป็นสมาชิกได้อีกเท่านั้นเท่านี้ราย จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กำหนด (มักจะจูงใจมาก) ยิ่งชวนคนเข้ามามาก ยิ่งมีรายได้มากเป็นหลายเท่าตัว มีข้อสังเกตด้วยว่า พักหลังๆ วิธีแบบนี้ปรากฏให้เห็นทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก

ผมเองให้ข้อคิดว่า ถ้าต้องเสียค่าสมัครสูงๆ (ส่วนใหญ่จะบวกสินค้ามาด้วย) ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน พึงระลึกว่า บริษัทขายตรงที่มีจรรยาบรรณจะคืนค่าสมัครกลับคืนในกรณีที่ผู้สมัครทดลองลงมือทำธุรกิจแล้วพบว่า บริษัทขายตรงนั้นๆ ไม่เหมาะกับตัวเอง

สอง ตั้งคำถามว่า “ผลิตภัณฑ์สินค้า” คุณภาพเหมาะสมกับราคาหรือไม่ หรือเป็นสินค้าที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆ หรือไม่ และอย่าลืมถามตัวเองว่า ถ้าเป็นคุณคิดจะบริโภคสินค้าตัวนี้ด้วยหรือไม่ ธุรโกงแชร์ลูกโซ่พร้อมจะพลิกแพลงเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายตลอดเวลา ยุคหนึ่งเมื่อคนชักรู้แกวว่า ขายตรงต้องมีสินค้า ไม่ใช่การได้ค่าหัวคิวจากการหาสมาชิก พวกนี้จะหาสินค้ามาบังหน้า หรือแทนที่จะให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินตรงๆ ก็ใช้วิธีมอบเป็นสินค้า โดยอ้างว่าคือรายการส่งเสริมการขาย หรือโปรโมชั่น กว่าจะรู้ตัวก็ถูกเชิดเงินหนีไปแล้ว ต้องยอมรับว่า “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” จะพยายามสร้าง story ใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงผู้บริโภคที่รู้ไม่เท่าทัน และพลิกแพลงไปได้ตลอดเวลา

ตามกฎหมายขายตรงของไทย (พระราชบัญญัติการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545) ผู้ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องรับประกันผลิตภัณฑ์และยินดี “คืนเงิน” เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิคืนผลิตภัณฑ์ รวมถึงยอม “รับซื้อสินค้าคืน” จากนักธุรกิจขายตรงเมื่อต้องการยุติการดำเนินธุรกิจภายในเวลาที่กำหนด

สาม อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาดว่า “ไม่ต้องขาย” หรือเพียงแค่ไป “ชวนคน” ก็รวยได้ เพราะฉะนั้นใครที่หว่านล้อมว่าภายในเดือนสองเดือนจะมีรายได้เป็นหมื่นเป็นแสน ให้ตั้งข้อสังเกตได้เลยว่า อาจเข้าข่ายธุรโกงอย่างแน่นอน ผู้ที่ประสบความสำเร็จกับธุรกิจขายตรงจะต้องลงมือทำธุรกิจ ค่อยๆ ขายสินค้าและสร้างเครือ ข่ายธุรกิจด้วยการสร้างทีมงานขึ้นมาอย่างจริงจังเท่านั้น

สุดท้าย อย่าให้ “ความอยากมี-อยากได้” เข้ามามีอิทธิพลเหนือ “เหตุผล” เวลาจะตัดสินว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นขายตรงนั้นเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไม่มี “ความโลภ” เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอันขาด ต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจขายตรงไม่ใช่การลงทุนด้านการเงิน แต่ต้องเกิดจากการจำหน่ายสินค้าหรือแนะนำผู้อื่นให้มาร่วม “ขายสินค้า” ไม่ใช่มาช่วยกัน “หาสมาชิก”

ธุรกิจขายตรงจึงเป็นเรื่องของการสะสมความสำเร็จ ไม่มีทางลัดใดๆ รายได้ที่ได้รับจะเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงาน ไม่มีธุรกิจขายตรงไหนๆ ช่วยให้ร่ำรวยในระยะเวลาชั่วข้ามคืน เหมือนอย่างที่ “ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่” นำมาโอ้อวดอย่างแน่นอน

from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/preecha/20100301/102489/รู้เท่าทัน-“ธุรโกง-แชร์ลูกโซ่”.html


บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)