15 กันยายน 2556

Insurance Business ธุรกิจประกันภัย

Insurance Business ธุรกิจประกันภัย
Post by JoeSoros
จดโดย Kongkiti

1. ในไทยแบ่ง License เป็น ประกันชีวิต, และประกันวินาศภัย เพื่อนบ้าน ขายรวมกัน
2. รับเงินก่อน จ่าย Claim ทีหลัง
3. เป็นธุรกิจกระดาษ -> ดู Probability -> ต้องใช้คณิตศาสตร์ประกันภัย คำนวณ
4. ดูอัตราดอกเบี้ย, สถิติ ต่างๆ
5. เน้นเรื่อง เงินสำรอง -> เพียงพอจ่ายผู้เอาประกัน
6. แบบประกัน คปภ. ควบคุม ออกใหม่ ยาก ใช้เวลา
7. แบบประกันให้ดูว่า ขายได้มั๊ย, ทำได้จริงมั๊ย,มีกำไรมั๊ย
8. Adverse Selection -> การ Screen ลูกค้า
9. Moral Hazard -> ลูกค้าถลุงเงินบริษัทเก่งมั๊ย เช่น ป่วยนิดเดียว แต่อยากนอนโรงพยาบาลนานๆ ให้หมอเขียนบิลให้
10. ประกันที่ดี มีการแบ่ง ซอยย่อย คัดเลือกลุ่มลูกค้า
11. ประกัน 2 แบบ ALR, non-ALR
12. non-ALR คือ non-Active Life Reserve 
-> จ่ายเบี้ยคุ้มครองสั้นๆ ใน 1 ปีสามารถ Control Loss Ratio ได้ 
*Loss Ratio คือ Claimed หารด้วย Net Earned Premium
-> คือ Claimed เพิ่ม ก็เพิ่มเบี้ย 
-> Cash Cow / Cash Generation

13. ALR คือ Active Life Reserve 
-> พวกจ่ายเบี้ย แล้วคุ้มครองนานเกิน 1 ปี
-> การตั้งสำรอง ซับซ้อน
-> ดู Long Term (พวกประกันชีวิต)

14. เงินสำรอง มี 2 แบบ
14.1 Claimed Reserve คือ มี Claimed ก็บันทึกไว้-> ประกันวินาศภัย
14.2 Policy Reserve เอาเงินฝากประกันไว้ก่อน -> ประกันชีวิต

15. แบบประกันชีวิตแบบต่างๆ เยอะแยะมากมาย
16. วิธีการคิดกำไร/Valuation ของบริษัทประกันชีวิต 4 แบบ (จริงๆ มีมากกว่านี้)
16.1 หลักการเงินสำรอง -> ดูงบดุล -> คุ้มครองผู้บริโภค (แบ่งย่อยได้เป็น Thai GAAP-คปภ. และ RBC)
16.2 ตั้งสำรองเฉลี่ยๆ เฉลี่ย Earning แล้วหา PE -> US GAAP
16.3 สรรพากร (เกณฑ์ภาษี)
16.4 Appraisal Value (EV), Economic Value Added
-> AV = EV + VoNB
-> EV = ANW+VIF
*EV (Embedded Value) คิดเหมือนธุรกิจมหาวิทยาลัย
*ANW (Adjusted Net Worth) = Asset (ราคาตลาด) - Liability (คปภ.)
*VIF (Value in Force) = มูลค่าเบี้ยปีต่ออายุ
*VoNB (Value of New Business) -> คำนวณค่อนข้างซับซ้อน ถามตัวเลขจากบริษัทเอา แล้ว Monitor อัตราการเติบโตของตัวเลขนี้เอา
*ทุกอย่างคิดเป็น Present Value
สงสัยไปถามนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เอาดีกว่าครับ ไปอบรมมาแล้ว ก็ยังงงอยู่ Assumption เยอะเกิน

17.คุณทอมมี่ บอกว่า Top Line บริษัทประกันชีวิต อย่าไปดูมาก ดูเป็น AV, EV
18. ดูจาก GDP Penetration Rate ของประกันในไทยยังโตได้อีก โดยเฉพาะ ประกันชีวิต
19. แต่ประกันในไทย ยังมีไว้เพื่อขาย คือ ต้องไปง้อลูกค้าซื้อ ไม่เหมือน Developed Country ที่ทุกคนรู้ถึงความสำคัญของประกัน เป็นตลาดของปู้ซื้อ

นโยบายสำคัญที่ คปภ. กำลัง Promote
1. Micro Insurance
2. เบี้ยประกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาเที่ยวเมืองไทย

ประกันชีวิต ดูอะไรบ้าง
1. Earning Smooth มั๊ย (ดูวิธีการตั้งสำรอง)
2. Growth of VoNB
3. SWOT
4. Distribution Channel
5. Asset Liability Management

ผมแถมสรุปให้ว่า ประกันวินาศภัย ดูอะไรบ้าง
1. ผู้บริหาร, คนที่คุมการลงทุน
2. โครงสร้างต้นทุน + EoS (Economy of Scale) 
3. อัตราเติบโตเบี้ยรับ (Direct Premium Written)
4. บริษัทเก่งประกันอะไร
5. ช่องทางการจำหน่าย, การเติบโตในอนาคต


from http://goo.gl/fnpPw9

‘หุ้นดี’ …ดูอย่างไร – Value Way

ถ้าท่านศึกษาบทวิเคราะห์ หรือคำแนะนำของโบรกเกอร์ตาม นสพ.ต่างๆจะพบอยู่บ่อยๆ ว่า มักจะมีคำแนะนำของนักวิเคราะห์ให้ซื้อ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ เก็บไว้ลงทุนระยะยาว บางแห่งก็จะบอกชื่อหุ้นให้ซื้อลงทุนเรียบร้อย โดยที่ท่านไม่ต้องไปปวดหัวกับการค้นหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ อย่างที่กล่าวไว้


ขณะที่นักลงทุนจำนวนมากซื้อหุ้นตามที่มีคนบอก จากนั้นจึงค่อยไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนั้นเพิ่มเติมตามหลัง หรือลงทุนโดยซื้อหุ้นตามที่มีคนแนะนำให้เราซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ โดยที่เราไม่ได้เข้าใจ และศึกษาธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ด้วยตัวเอง 

วิธีการดังที่กล่าวมา จึงไม่ใช่วิธีที่ ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ หรือ Value Investor ควรปฏิบัติ


สำหรับ ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ ควรจะทำศึกษาหุ้นตัวนั้นและการบ้านอย่างหนักก่อนที่จะลงทุนซื้อหุ้นบริษัทไหนสักบริษัทหนึ่ง


การหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ นั้นไม่ยากเกินความสามารถและเราสามารถค้นหาได้ด้วยตัวเราเอง ยิ่งถ้าเราเข้าใจในธุรกิจที่เราลงทุนแล้ว เราก็ไม่ต้องไปกังวลกับสภาพของตลาดหุ้น ที่ราคาหุ้นอ่อนไหวไปตาม ‘ความโลภ’ และ ‘ความกลัว’ ของอารมณ์นักลงทุนทั้งหลายในตลาด


หุ้นพื้นฐานดีสามารถบอกได้โดยดูจากงบการเงินของบริษัทนั้น ก็คือ งบดุล งบการเงิน และงบกระแสเงินสด โดยดูย้อนหลังไปหลายๆ ปี เพื่อป้องกันการตกแต่งบัญชี และดูความสามารถของบริษัทว่าแข็งแกร่งจริงหรือไม่


วิธีดูหุ้นพื้นฐานดีที่จะกล่าวในที่นี้ จะพูดถึงเฉพาะหุ้นที่มีประวัติการดำเนินงานที่ดี โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงหุ้นที่เพิ่งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (Turnaround) ที่ผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาไม่นาน


ลักษณะที่ดี 9 ประการของ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ควรจะมีดังต่อไปนี้


1.มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หุ้นที่ดีควรจะมียอดขายที่เติบโตขึ้น ถ้าเติบโตเพิ่มขึ้นได้ทุกปีก็จะดีมาก แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจนั้นมีการขยายตัว และสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นได้ ส่วนหุ้นที่มียอดขายสาละวันเตี้ยลงทุกปีทุกปี น่าจะเป็นหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง หมายถึงว่า กิจการนั้นกำลังถูกคู่แข่งแย่งตลาดสินค้าไป หรือไม่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นก็อาจจะอยู่ในข่ายอุตสาหกรรมตะวันตกดิน (sunset industry) หรือผู้บริหารมีปัญหาในการดำเนินกิจการ แต่ยอดขายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นพื้นฐานดีหรือไม่ ต้องใช้ปัจจัยอีกหลายอย่างในการวิเคราะห์ธุรกิจ ดังจะกล่าวต่อไป

2. มีการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ดี


บริษัทที่มีการควบคุมการดำเนินงานที่ดี เราสามารถตรวจสอบดูได้จากงบกำไรขาดทุน โดยสังเกตจากต้นทุนสินค้าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ควรจะไปตามยอดขายของกิจการ ถ้ายอดขายสูงขึ้นค่าใช้จ่ายก็สามารถอนุโลมให้เพิ่มขึ้นได้ตามสัดส่วนยอดขายที่สูงขึ้น แต่ธุรกิจที่ยอดขายลดลงแต่ต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นักลงทุนควรจะระวังและถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำควรตรวจสอบให้ดีก่อนลงทุนในบริษัทนั้น

3. ไม่ประสบปัญหาขาดทุน 


บริษัทที่ดีควรจะมีความสามารถในการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ บริษัทที่ประสบภาวะขาดทุน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของผู้บริหาร ถ้าขาดทุนตลอดปีหรือไม่ ก็ขาดทุนปีเว้นปี นักลงทุนควรเอาเวลาไปศึกษาธุรกิจอื่นจะดีกว่า ยกเว้นท่านที่ชอบลงทุนใน ‘หุ้นฟื้นคืนชีพ’ (Turnaround) ที่ขาดทุนมาหลายปีอยู่ดีๆ ก็กลับมาทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ อันนี้ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่สำหรับท่านที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนมากนัก ควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีผลดำเนินงานขาดทุนจะปลอดภัยกว่า

4. เงินทุนหมุนเวียนเป็นบวก (Positive Working Capital)


ธุรกิจที่ดีควรมีทรัพย์สินหมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน เพราะธุรกิจควรมีการเตรียมความพร้อมของเงินทุนระยะสั้นให้เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้สินระยะสั้น มิฉะนั้นธุรกิจอาจจะมีปัญหาการเงินเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการกู้ยืมระยะสั้นมาก อาจจะต้องสำรองเงินสดไว้พอสมควรทีเดียวสำหรับการจ่ายคืนหนี้ที่เรียกเก็บภายใน เวลาไม่นาน ยกเว้นธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือค้าส่ง ที่รับเงินจากการขายให้กับลูกค้าเป็นเงินสดแต่ได้เครดิตจากผู้ผลิตสินค้าเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะจ่ายเงิน ในกรณีนี้เงินทุนหมุนเวียนอาจจะติดลบได้ ซึ่งกลับกลายเป็นจุดแข็งสำหรับธุรกิจประเภทนี้เสียอีก เพราะแทนที่จะต้องมีเงินสำหรับของที่อยู่ในสต็อกกลับเป็นผู้ผลิตสินค้าที่จะต้องเป็นคนจ่ายเงินค่าสินค้าคงคลังแทน

5. มีหนี้ไม่มากหรือมีหนี้อยู่ในฐานะที่เหมาะสม

ตัวเลขคร่าวๆ ที่ใช้กันส่วนใหญ่ในการตรวจสอบสภาพหนี้สินของธุรกิจก็คือ ‘อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน’ (Debt/Equity Ratio) ธุรกิจที่มีหนี้สินต่อทุนสูง แสดงว่า มีการกู้ยืมหนี้ระยะยาวมาก และทำให้ธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูง อัตราหนี้สินต่อทุนที่พอเหมาะที่ใช้กันทั่วไปคือ น้อยกว่าหนึ่งเท่า หรือไม่เกินสองเท่า

6. มีกำไรสะสม (Retain Earning) เพิ่มขึ้นทุกปี


ธุรกิจที่ดีควรมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และสามารถนำกำไรสะสมนั้นไปลงทุนต่อให้งอกเงยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ธุรกิจที่มีกำไรสะสมลดลง นักลงทุนควรตั้งคำถามก่อนที่จะลงทุนในบริษัทนั้นว่า บริษัทนำกำไรสะสมนั้นไปใช้ ทำอะไรและมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่

7. มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Shareholder Equity) เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ


บริษัทที่สามารถเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอนับว่า เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้บริหารในการนำเงินของบริษัทไปลงทุนในกิจการที่มีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นลดลงหรือติดลบ แสดงว่า ธุรกิจนั้นที่ผ่านมามีการขาดทุนเกิดขึ้น

8. กำไรต่อยอดขาย (Profit Margin) มากพอสมควร


ธุรกิจที่มีกำไรต่อยอดขายสูง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนของกิจการในระดับที่ดี แต่กำไรต่อยอดขายสูง อาจจะดึงดูดให้คู่แข่งหน้าใหม่ๆเข้ามาในอุตสาหกรรมนั้นมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูงส่วนมากจะมีกำไรต่อยอดขายต่ำ เพราะมีการตัดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าและบริการของตน ทำให้กำไรของทั้งอุตสาหกรรมลดลง ดังนั้น ธุรกิจที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงก็คือ ธุรกิจที่มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ (Cost Leadership)

9. ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) สูง

ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น คำนวณจาก กำไรหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้น (Net Profit/ Equity) ธุรกิจที่มีผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นสูงแสดงว่า ผู้บริหารสามารถบริหารเงินทุนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางธุรกิจที่มีเงินกู้ยืมสูงก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นสูงขึ้นได้ เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของหนี้สินระยะยาวมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้น ในบางกรณีอาจจะจำเป็นต้องใช้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (Return on Total Capital) ในการตรวจสอบความสามารถในการดำเนินงานของธุรกิจนั้น จะเหมาะสมมากขึ้น เนื่องจากได้รวมส่วนหนี้สินระยะยาวในการคำนวณไว้ด้วย

ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน หาได้จากกำไรหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและหนี้สินระยะยาว (Net Profit/(Longterm Liability+Equity)) บริษัทที่มีผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง จะน่าสนใจกว่าบริษัทที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำ

การค้นหาลักษณะที่ดี 9 ประการข้างต้นของหุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะช่วยให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจในหุ้นที่ท่านลงทุนมากขึ้น แทนที่จะรอให้คนอื่นหรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ตามโบรกเกอร์ต่างๆ มาแนะนำ ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ให้กับท่าน

ท่านสามารถที่จะเริ่มศึกษาและค้นหา ‘หุ้นพื้นฐานดี’ ได้ด้วยตัวท่านเอง ซึ่งนับว่าเป็นหนทางในการเป็น ‘นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า’ หรือ Value Investor ที่ดีทางหนึ่ง


: วิบูลย์ พึงประเสริฐ


11 กันยายน 2556

โลกจะน่าอยู่ขึ้นถ้าผู้นำมีคุณลักษณะของเพศหญิง

ในโอกาสวันแม่นี้ดิฉันอยากจะขอแบ่งปันข้อคิดจากนักวิชาการที่ค้นพบสิ่งดีๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะของเพศหญิงที่มีอยู่ในตัวมนุษย์


ในคนทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย จะมีคุณลักษณะและอุปนิสัยหลายๆ อย่าง บางคุณลักษณะนั้นแจงออกมาเป็นคุณลักษณะของเพศชาย (Masculine) คือออกจะแข็งกร้าว คนจีนจะเรียกว่า “บู๊” บางคุณลักษณะก็แจงออกมาเป็นคุณลักษณะของเพศหญิง (Feminine) ซึ่งอาจจะอนุมานว่าเป็น “บุ๋น” หรือบางคุณลักษณะจะออกมากลางๆ (neutral)
John Gerzema ที่ปรึกษาด้านความเป็นผู้นำ ร่วมกับ Michael D’Antonio ได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ The Athena Doctrines แปลตรงตัวก็คือ “ลัทธิอธีนา” อธีนาเป็นเทพธิดาของกรีก ถ้าเป็นโรมัน คือ มิเนอร์วา (Minerva)
ขอเล่าถึงอธีนาก่อนนะคะ เพราะเป็นที่มาของชื่อหนังสือซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อได้อย่างชาญฉลาดจริงๆ
เทพธิดา หรือเทพีอธีนา ซึ่งมีวิหารพาร์เธนอนเป็นวิหารประจำตัว มีมะกอกเป็นต้นไม้ประจำตัว และมีกรุงเอเธนส์เป็นเมืองประจำตัว เป็นพระธิดาของ ซุส (Seus) หรือ จูปิเตอร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด บางตำนานกล่าวว่าไม่มีพระมารดา แต่ประสูติมาจากพระนลาฎหรือหน้าผากของซุส แต่บางตำราก็เล่าว่า ซุสทรงบรรทมกับเมติส เทพีแห่งความคิดและความเฉลียวฉลาด แล้วทรงนึกขึ้นมาได้ว่าหากเทพีเมติสทรงครรภ์ และเป็นพระโอรสก็น่าจะเก่งเกินกว่าพระองค์ จึงทรงกลืนเทพีเมติสลงไป แต่ช้าไปเสียแล้ว เทพีเมติสทรงครรภ์แล้ว และเมื่อครบกำหนด เทพีอธีนาก็ประสูติมาจากพระนลาฎของซุส และเป็นพระธิดาที่ซุสทรงโปรดมากที่สุด
เทพีอธีนาเป็นเทพีแห่งความเฉลียวฉลาด ความเข้มแข็งกล้าหาญ เป็นตัวแทนแห่งแรงบันดาลใจ ความศิวิไลซ์ ความยุติธรรม มีเหตุผล และความบริสุทธิ์ นอกจากนั้นยังเป็นเทพีแห่งศิลปะและวรรณกรรม ตามเรื่องราวที่ปรากฏในเทพนิยายของกรีกและโรมันนั้น เทพีอธีนาทรงเป็นผู้ช่วยเหลือวีรบุรุษต่างๆ หลายคน เช่น เฮอร์คิวลิส เจสัน และโอดิซุส เป็นต้น
นั่นคือที่มาของชื่อหนังสือ ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าจากการทำวิจัยโดยสัมภาษณ์คน 64,000 คนจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่าคุณลักษณะของเพศหญิงที่มีอยู่ในตัวผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะอยู่ในโลกของธุรกิจหรือการเมือง เป็นที่นิยมของมากกว่า ผู้คนมองว่าหากผู้นำต่างๆ มีคุณลักษณะของเพศหญิงมากขึ้น โลกคงจะไม่วุ่นวาย วิกฤติการณ์ทางการเงินคงไม่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สงครามและความขัดแย้งคงจะลดน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้เขียนยังเห็นว่า ผู้ที่มีคุณลักษณะของเพศหญิงอยู่ในตัว เป็นผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำในศตวรรษต่อไปแทนที่ ความแข็งกร้าว และคุณลักษณะของเพศชาย ที่เป็นค่านิยมที่ชื่นชอบในศตวรรษที่ผ่านมา
คุณผู้ชายอย่าเพิ่งน้อยใจจะพลิกไปอ่านเรื่องอื่นค่ะ เพราะในคนคนหนึ่ง จะมีคุณลักษณะของทั้งสองเพศปนกันอยู่แล้ว เพียงแต่คุณลักษณะไหนเด่นมากกว่า หรือถูกนำมาใช้มากกว่าเท่านั้นเอง
คุณลักษณะของเพศต่างๆ ที่ผู้เขียนมีการแยกแยะไว้ แบ่งเป็นสามกลุ่มคือ คุณลักษณะของเพศหญิง คุณลักษณะเป็นกลาง และคุณลักษณะของเพศชาย ดิฉันอาจจะแปลมาไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล แต่ขอนำเสนอเท่าที่สามารถทำได้ ในเนื้อที่ที่จำกัดค่ะ 
คุณลักษณะที่จัดว่าเป็นคุณลักษณะเพศหญิงมีดังนี้ น่าเชื่อถือ ต้นกำเนิด มีจิตวิญญาณอิสระ มีเสน่ห์ พูดอธิบายได้ พึ่งพาได้ ทุ่มเท มีเหตุผล คล่องแคล่วว่องไว ปรับตัวได้ดี ผูกพัน สุขภาพดี ป๊อปปูล่า (เป็นที่นิยม) ไม่ตอบโต้ ใส่ใจ มองถึงชุมชน ให้ความช่วยเหลือ สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น มีสัญชาตญาณดี เข้าสังคมได้ดี จริงใจ เห็นอกเห็นใจ กรุณา ให้การสนับสนุน เป็นผู้ให้ ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ 
เป็นผู้ฟังที่ดี ให้ความรัก มีความรู้สึกอ่อนไหว เปราะบาง นุ่มนวล มีสไตล์ ติดดิน วางแผนเพื่ออนาคต เปิดรับความคิดใหม่ๆ มีเอกลักษณ์ ใจกว้าง ทำงานเป็นทีม ซื่อสัตย์ มีจินตนาการดี ถ่อมตัว ช่างสงสัยใฝ่รู้ มีความจงรักภักดี มีวิจารณญาณ ให้ความร่วมมือ
ผูกพัน/มีส่วนร่วม เป็นมิตร ทันสมัย ไม่คิดถึงตัวเอง มีวิสัยทัศน์ รับผิดชอบต่อสังคม มีเมตตา ให้กำลังใจ มีความเห็นอกเห็นใจ แสดงออกซึ่งความรู้สึก มีความเข้าใจ อดทน รู้จังหวะ ไม่ตกเทรนด์ ให้ความสำคัญกับครอบครัว ใส่ใจ มีความเข้าใจจิตใจผู้อื่น มีความอ่อนไหว ดูแลใส่ใจ และเฉิดฉาย
สำหรับคุณลักษณะบางอย่าง ถือว่าเป็นกลาง (Neutral) คือไม่ได้เป็นคุณลักษณะของเพศใดเพศหนึ่ง คือ มีวิสัยทัศน์ กระตือรือร้น เรียบง่าย ของแท้ แตกต่าง กระฉับกระเฉงว่องไว ปราศจากความกังวล ร่วมแรงร่วมใจ เฉลียวฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยม ตรงไปตรงมา ยึดประเพณีนิยม สนุกสนาน 
คุณสมบัติที่เป็นเพศชาย ซึ่งผู้หญิงก็มีได้และใช้ได้ คือ มุ่งมั่น แข็งแรง ไม่โอนอ่อน แตกต่าง ทุ่มเท ทนทาน ก้าวร้าว กล้าหาญ หยิ่งยโส ไม่โอนอ่อน เป็นผู้นำ นำอย่างเป็นกลาง วิเคราะห์ได้ดี ภาคภูมิใจ ตัดสินใจเด็ดขาด มีความทะเยอทะยาน แบกภาระเกินควร ทำงานหนัก มีตรรกะดี สร้างคนให้เห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์ พึ่งตนเอง 
กล้าท้าทาย ชอบแข่งขัน ใจกล้า ดื้อ ชอบสอดแทรก ผลักดัน กำกับ ให้ความสำคัญกับงาน/อาชีพ ไม่อยู่นิ่ง มั่นใจ ตรงไปตรงมา เห็นแก่ตัว เป็นอิสระ เข้าถึงยาก ชอบความก้าวหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบจำกัดวง
ตามความเห็นของดิฉัน ไม่ว่าคุณสมบัติใดก็สามารถนำมาใช้ได้ทั้งนั้น แต่ต้องใช้ให้ถูกจังหวะ ถูกเวลา คุณสมบัติที่เป็นเพศชายบางอย่าง ผู้นำหญิงก็ต้องนำมาใช้ เช่น มั่นใจ การตัดสินใจเด็ดขาด การผลักดัน ความมุ่งมั่น การตรงไปตรงมา
สำหรับผู้นำชาย บางครั้งต้องใช้คุณลักษณะของเพศหญิงบ้างเหมือนกัน เช่น เมตตา เป็นมิตร จริงใจ ถ่อมตัว ยืดหยุ่น รับฟัง เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ รู้จังหวะ ไม่คิดถึงตนเอง ดูแลใส่ใจ รับผิดชอบต่อสังคม 
และคุณลักษณะเป็นกลาง ที่ควรจะต้องมีคือ มีวิสัยทัศน์ กระตือรือร้น เฉลียวฉลาด ร่วมแรงร่วมใจ และถ้าจะให้ดี ควรมีความสนุกสนานด้วยค่ะ ดิฉันพบว่าเมื่อเราสนุกกับงาน เพื่อนร่วมงานของเราจะทำงานด้วยความสนุกไปด้วยและผลงานจะออกมาดี คนทำงานไม่เครียด
หวังว่าท่านจะได้ประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้ได้บ้างนะคะ ทั้งในการทำงานและในชีวิตส่วนตัว ผู้นำต้องเล่นได้หลายบทบาท ทั้งบทดีและบทโหด จำได้ว่าเมื่อเข้าชั้นทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผู้เข้าร่วมอบรมหญิงส่วนใหญ่จะมีปัญหากับการที่จะต้องสวมบทบาทโหดๆ อาจารย์จึงสำทับว่า จะเป็นผู้นำได้ “ถึงบทโหด ต้องกระโดดเข้าใส่” ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม
ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ผู้นำที่ดี ไม่มีคนชอบทั้งหมดค่ะ ต้องมีทั้งคนชอบและมีคนไม่ชอบในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จะเป็นผู้นำในดวงใจได้หรือไม่นั้น ต้องวัดกันหลังจากหมดหน้าที่ไป ว่ายังทำให้ผู้คนจดจำในทางบวกได้หรือไม่ ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร แก่ผู้ร่วมงาน และแก่สังคมหรือไม่ 

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่กรุณาแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้ค่ะ


from http://goo.gl/cJ4vcI

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)