15 มกราคม 2553

เมตตาทุนนิยม - ปรีชา ประกอบกิจ

เมตตาทุนนิยม - ปรีชา ประกอบกิจ


เคยได้ยินคำว่า “เมตตาทุนนิยม” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Com passionate Capitalism กันบ้างไหมครับ
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าที่หยิบยกคำๆ นี้ขึ้นมา ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด เพียงแต่อยากให้เห็นถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอีกแนวทางหนึ่งเท่านั้น ทั้งยังเป็นแนวทางที่ถูกพูดถึงในโลกธุรกิจมาช้านาน เพียงแต่อาจไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย

คำๆ นี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย “ริช เดอโวส” หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งธุรกิจแอมเวย์ขึ้นมาเมื่อราวๆ ทศวรรษที่ 1970 หรือร่วมๆ สามสิบปีที่แล้ว

ในฉบับที่ผ่านมา ถ้าจำกันได้ ผมได้ฉายภาพ “การขาย” ตามแบบฉบับของแอมเวย์ซึ่งกลั่นออกมาจากความคิดของ “ริช เดอโวส” มาครั้งหนึ่ง

นอกจากการเป็น “นักขาย” ระดับกูรูของโลก เจ้านายสูงสุดของผมคนนี้ยังถือเป็นนักธุรกิจที่มีแนวทางการบริหารที่เป็นแบบฉบับของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินธุรกิจที่ยึดแนวทาง “เมตตาทุนนิยม” ที่ผมกำลังพูดถึง
ในขณะที่หลักการทั่วๆ ไปของทุนนิยม (Capitalism) คือ การลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาโดยยอมรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งประสบผลสำเร็จมีผลกำไร หรือประสบความล้มเหลว มีปัญหาการขาดทุนตามมา

เมื่อได้รับผลกำไร ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้น อีกส่วนหนึ่งจะถูกนำมาขยายการลงทุนต่อเพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ แต่สำหรับ “เมตตาทุนนิยม” จะไม่ได้มองเพียงแค่ผลกำไร หรือขาดทุน ตามแนวทางของทุนนิยมทั่วๆ ไปเท่านั้น

หลักการของเมตตาทุนนิยมแบบย่อๆ ก็คือ การดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มองแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง หากให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเราควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต
ริช พยายามขายไอเดีย “เมตตาทุนนิยม” นี้มาตั้งแต่ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสงครามเย็น เป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรี กับโลกคอมมิวนิสต์ ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ยึดมั่นในแนวทางของทุนนิยมอย่างเต็มตัว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองถึงความเท่าเทียมกันความเสมอภาคกันเป็นที่ตั้ง

มุมมองของ ริช เดอโส ในขณะนั้นแม้จะโน้มเอียงมาทางทุนนิยมเหมือนอเมริกันชนทั่วๆ ไป แต่ผู้ก่อตั้งอาณาจักรแอมเวย์เห็นว่า ถ้าโลกเรายังยึดมั่นแต่แนวทาง Capitalism มองผลประโยชน์ มองผลกำไรอย่างเดียว แต่ถ้าไม่มี Compassionate หรือ “ความมีเมตตา” จะทำให้หายนะได้เช่นกัน และท้ายที่สุดก็จะพ่ายแพ้ต่อคอมมิวนิสต์

ริช เดอโวส นั้นตกผลึกกับแนวทางที่ว่านี้จนถึงขั้นกลั่นออกมาเป็น “สมการความคิด” ทั้งยังเขียนหนังสือภายใต้ชื่อ Compassionate Capitalism ไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อแปรเปลี่ยนเป็นสมการยังทำให้ผู้สนใจใคร่รู้ทำความเข้าใจกับแนวคิดนี้ง่ายยิ่งขึ้น

สมการที่ว่าด้วย “เมตตาทุนนิยม” ของริช เป็นดังนี้

MW = NR + HE x T

MW : Material Welfare หมายถึง ข้าวของเครื่องใช้ หมายถึงสิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น

NR : Natural Resources หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Material Welfare อาทิ รถยนต์ที่วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากเหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก ฯลฯ แต่ก่อนจะมาเป็นเหล็ก ต้องมาจากแร่เหล็กที่ผ่านขั้นตอนการถลุงเสียก่อน จากนั้นถึงจะมาขึ้นรูปเป็นตัวถังรถ ส่วนพลาสติกมีที่มาจากเม็ดพลาสติก เป็นผลพลอยได้ที่มากับน้ำมันดิบ

HE : Human Energy หมายถึงแรงงานที่ใช้ในการผลิต

T : Tool หมายถึง เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงเครื่องจักร กรรมวิธี กลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ
เมื่อนำมาเข้าสมการทำให้เราเห็นภาพว่า สินค้า ข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้น กระทั่งบริการต่างๆ ล้วนมาจากการใช้แรงงานคน (Human Energy) มาทำให้วัตถุดิบทางธรรมชาติต่างๆ (Natural Resources) แปรเปลี่ยนเป็นผลผลิต

ผลผลิตเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณเมื่อมีการนำเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย หรือกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ

แต่สำหรับ ริช เดอโวส แล้ว แนวทางของเขาจะขยับขึ้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการชี้ให้เห็นว่าถ้าธุรกิจต่างๆ ใส่ Compassionate หรือ “ความมีเมตตา” เพิ่มเข้าไปดังสมการข้างล่าง จะทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบความสำเร็จเป็นเท่าทวีคูณ

MW= (NR + HE x T) x C

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราใส่ Compassionate เข้าไปที่ Natural Resour ces ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ มีประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ขุดเอามาใช้จนหมด ตัดไม้ทำลายป่าจนหมด ใช้น้ำอย่างไม่คุ้มค่า ปล่อยน้ำหรืออากาศเสีย ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

เช่นเดียวกับในประเด็นของ Human Energy เมื่อเรามีความมี “เมตตา” ให้กับเพื่อนร่วมงาน ดูแลแรงงานอย่างดี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผลผลิตที่ได้รับย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย หรือในประเด็นของ TOOL เมื่อเราพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กลยุทธ์ธุรกิจต่างๆ ไม่ได้มุ่งเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้หวังผลในทางธุรกิจแต่ฝ่ายเดียว โอกาสที่ธุรกิจจะได้รับการยอมรับในวงกว้างย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย

จะเห็นว่าถ้าเราได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างไปพร้อมกับความเมตตาในทุกๆ ขั้นตอนตามหลักคิดของ Compassionate Capitalism ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมยั่งยืนกว่า มีผลผลิตมากกว่า ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้รับการคำนึงถึง ขณะเดียวกันเมื่อสินค้าหรือบริการที่ผลิตออกไปไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาภาวะเรือนกระจกที่กำลังทำลายชั้นบรรยากาศของโลกคงทุเลาเบาบางลง

เมื่อท่องคาถา Compassionate ไว้ในใจ นึกดูโลกของเราจะน่าอยู่เพิ่มขึ้นแค่ไหน
 
ในทางกลับกัน ริช เดอโวส เตือนว่า ในธุรกิจที่ไม่ได้ยึดมั่นกับแนวทาง “เมตตาทุนนิยม” ไม่ได้ให้ความสำคัญกับศีลธรรมจรรยา หรือจริยธรรม สักวันหนึ่งก็ต้องล่มสลาย

คงจำกรณีของ “เอนรอน” ของสหรัฐอเมริกาได้ใช่ไหมครับ

เมื่อให้ความสำคัญกับการกอบโกยผลกำไรเป็นประเด็นหลัก และลืมนึกถึงศีลธรรมจรรยา ทำให้ “เอนรอน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งถึงแก่การล่มสลาย ตัวผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องมีคดีความติดตัวกระทั่งทุกวันนี้

ถึงตรงนี้หลายคนอาจย้อนถามกลับว่า ปัจจุบันธุรกิจทั้งหลายต่างให้ความสำคัญกับ CSR (Corporate Social Responsibility ) กันอยู่แล้ว เท่านี้ยังไม่พออีกหรือ คำตอบของ ริช เดอโวส ก็คือ ยังไม่พอครับ

ความแตกต่างคือ “เมตตาทุนนิยม” จะเข้าไปเกี่ยวพันในทุกขั้นตอนของธุรกิจ ทุกเวลาทุกนาที ต่างจาก CSR ที่เกิดขึ้นในบางช่วงเวลาเท่านั้น

สำหรับ “ริช เดอโวส” แล้ว ความคิดเรื่อง “เมตตาทุนนิยม” ยังเกิดขึ้นก่อนจะมีการก่อตั้ง “แอมเวย์” ขึ้นมาเสียอีก

นั่นทำให้เรายึดมั่นกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ตั้งแต่แรกก่อตั้งแล้ว

ผมกล้ายืนยันว่า ถึงแม้เราจะเป็นทุนนิยมอย่างเต็มตัว แต่สิ่งที่แอมเวย์มอง เราไม่ได้มองแค่ National Resource หรือ Human Energy เท่านั้น แต่มองถึง TOOL ที่นำมาใช้ด้วย ทุกขั้นตอนมี Compassionate เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญยิ่งกว่า

TOOL หรือแผนการตลาดที่เรานำมาใช้พิสูจน์ให้เห็นตลอดมาว่ามีความยุติธรรมในทุกขั้นตอน เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เห็นได้จาก “แอลโอซี” สินค้าตัวแรกของเรา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ที่ยืนยงมาถึงทุกวันนี้ ผลิตขึ้นมาโดยมีคุณสมบัติ ย่อยสลายตามธรรมชาติ ทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำลำคลอง หรือสิ่งแวดล้อม

แอลโอซี ดำรงคุณสมบัตินี้มาร่วมๆ ห้าสิบปีเข้าให้แล้ว

เช่นเดียวกับคำว่า Stake Holder หรือผู้ถือหุ้น ในมุมมองของเรา “ผู้ถือหุ้น” ไม่ได้มีเพียงตระกูลผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้น พนักงาน ซัพพลายเออร์ แต่หมายรวมไปถึงผู้คนทั้งหมดบนโลกใบนี้

เมื่อคุณมี Compassionate ดำรงไว้กลางจิตใจ วันใดวันหนึ่งข้างหน้า สังคมจะมอบสิ่งนั้นตอบแทนกลับมาให้ตัวคุณเอง

from http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=2&ArticleID=1451&ModuleID=21&GroupID=617


บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)