06 กรกฎาคม 2553

รู้จักกองทุนเชิงรับให้มากขึ้น

รู้จักกองทุนเชิงรับให้มากขึ้น

ในการบริหารพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ผู้จัดการกองทุนจะมีวิธีการบริหารพอร์ตการลงทุนหลักๆ อยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน วิธีการบริหารพอร์ตฯ แบบแรกนั้น เราเรียกว่าการบริหารแบบเชิงรุก (Active Management) ส่วนวิธีการบริหารพอร์ตฯ แบบหลังนั้นเรียกว่าการบริหารแบบเชิงรับ (Passive Management) พิจารณากันจากชื่อก็คงพอจะคาดเดาได้นะครับ ว่าการบริหารแบบเชิงรุกนั้น จะต้องมีอะไรที่ซับซ้อน และดูจะน่าสนใจกว่าการบริหารแบบเชิงรับแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงครับ เพราะการบริหารแบบเชิงรุกนั้น ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ที่จะต้องบริหารพอร์ตฯ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนีที่กองทุนไปอ้างอิง ตัวอย่างเช่น หากกองทุนนั้นลงทุนในหุ้นไทย แล้วเลือกดัชนี SET50 มาเป็นดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนก็จะต้องพยายามสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าผลตอบแทนจากดัชนี SET50 ให้ได้อย่างสม่ำเสมอ จากหลักการข้างต้น ผู้จัดการกองทุนเชิงรุกจึงมีการทำงานที่ซับซ้อนและต้องมีการตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการตัดสินใจจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) การเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน (Securities Selection) และท้ายที่สุด ยังต้องเลือกจังหวะเวลาที่จะซื้อ-ขายหลักทรัพย์นั้นๆ (Market Timing) ด้วย จากภาระงานข้างต้น จึงส่งผลให้กองทุนรวมที่มีการบริหารแบบเชิงรุก มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนสูงกว่ากองทุนแบบเชิงรับ (โดยปกติสัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อสินทรัพย์ของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.5% ต่อปี) ในทางกลับกัน กองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรับ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อกองทุนดัชนี (Index Fund) นั้น หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนก็คือ บริหารพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีที่กองทุนไปอ้างอิง ตัวอย่างเช่น หากกองทุนนั้นเลือกดัชนี SET50 มาเป็นดัชนีอ้างอิง ผู้จัดการกองทุนก็ต้องทำการซื้อหุ้น 50 ตัวซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี SET50 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสัดส่วนที่จะทำให้ผลตอบแทนกองทุนดัชนีของตนเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนี SET50 ให้มากที่สุด ดังนั้น หากดัชนีอ้างอิงให้ผลตอบแทน 20% กองทุนดัชนีที่ดีก็ควรจะมีผลตอบแทนใกล้เคียง 20% และเช่นกันหากดัชนีอ้างอิงให้ผลตอบแทนขาดทุน 20% กองทุนดัชนีก็น่าจะขาดทุนใกล้เคียงกับ 20% อย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งตรงจุดนี้ ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจให้ดีครับ พิจารณาดูจากหลักการข้างต้น หลายท่านอาจจะคิดว่า หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนที่บริหารพอร์ตฯ แบบเชิงรับ คงจะไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะไม่ต้องไปทำการเลือกหุ้นรวมถึงไม่ต้องจับจังหวะลงทุนเอง เพียงแค่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ให้ได้สัดส่วนตามดัชนีอ้างอิงก็เพียงพอ แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนแบบเชิงรับควรทำอย่างยิ่งก็คือ การพยายามรักษาต้นทุนในการบริหารพอร์ตฯ ให้ต่ำที่สุด เพราะหากต้นทุนการบริหารพอร์ตฯ สูงเกินไป ก็จะทำให้กองทุนดัชนีไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวของการบริหารพอร์ตฯ แบบเชิงรับ ซึ่งการรักษาต้นทุนให้ต่ำนั้นโดยปกติก็จะทำโดยการลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมด้วยการพยายามซื้อ-ขายหลักทรัพย์ให้น้อยครั้งที่สุด และหากมีสิ่งใดที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนของกองทุนได้ โดยไม่ขัดกับนโยบายการลงทุน เช่น การทำธุรกรรม SBL หรือการให้ยืมหลักทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่ ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนเชิงรับอีกทางหนึ่ง ซึ่งด้วยวิธีการบริหารพอร์ตฯ ดังกล่าว จึงทำให้โดยทั่วไปแล้วกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรับจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนที่ต่ำกว่ากองทุนแบบเชิงรุก (โดยปกติสัดส่วนค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อสินทรัพย์ของกองทุนอยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 1.00% ต่อปี) แม้ว่าผู้ลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรุกนั้น จะสามารถคาดหวังผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยหรือเหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดได้ แต่ก็ยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่เลือกลงทุนในกองทุนเชิงรับ ทั้งนี้เพราะเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ 1) การเลือกกองทุนเชิงรุกให้มีผลตอบแทนชนะตลาดอย่างสม่ำเสมอทำได้ยาก ผู้ลงทุนที่เลือกลงทุนในกองทุนเชิงรับ เชื่อว่าการที่ผู้จัดการกองทุนของกองทุนใดๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้อย่างสม่ำเสมอนั้นเป็นไปได้ยาก และในท้ายที่สุดแล้ว ผู้จัดการกองทุนโดยทั่วไปก็จะทำผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย (Reverting to the Mean) ดังนั้น ผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งจึงเลือกลงทุนในกองทุนดัชนี ซึ่งมั่นใจได้ว่า จะได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอย่างแน่นอน ซึ่งผลตอบแทนที่เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของตลาดนั้น ก็ถือว่าน่าพอใจมาก โดยผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับการลงทุนในหุ้นในระยะยาวนั้น หุ้นไทยให้ผลตอบแทนระยะยาวในอดีตนับตั้งแต่มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ปี 2518) อยู่ที่ประมาณ 10-11% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูง และอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการลงทุนหุ้นในประเทศต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน 2) ค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำซึ่งมีผลมากสำหรับการลงทุนในระยะยาว กองทุนเชิงรับโดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำกว่ากองทุนแบบเชิงรุกค่อนข้างมาก หากผู้ลงทุนเชื่อว่าในระยะยาว ผู้จัดการกองทุนจะสามารถบริหารพอร์ตฯ ให้ได้ผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายที่ไม่แตกต่างกับผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดมากนัก การเลือกลงทุนในกองทุนประเภทเดียวกันที่เก็บค่าใช้จ่ายต่ำกว่า เช่นกองทุนดัชนีนั้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ในแง่ของการได้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหากในระยะยาวกองทุนหุ้นโดยทั่วไปสามารถสร้างผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับ 10% ต่อปี หากลงทุนในกองทุนเชิงรุกที่คิดค่าใช้จ่ายที่ 1.50% ต่อปี ผู้ลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนสุทธิประมาณ 8.50% ต่อปี ในขณะที่หากเลือกลงทุนในกองทุนเชิงรับซึ่งคิดค่าใช้จ่ายที่ 0.60% ต่อปี ผลตอบแทนสุทธิของกองทุนเชิงรับดังกล่าวก็จะอยู่ที่ประมาณ 9.40% ต่อปี ซึ่งส่วนต่างเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าว ถ้าผู้ลงทุนลงทุนในระยะเวลานาน เช่นลงทุนในกองทุน RMF ซึ่งต้องถือลงทุนจนกระทั่งอายุครบ 55 ปี ส่วนต่างของผลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ นั้น จะส่งผลให้มูลค่าของเงินลงทุน เติบโตได้ต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้เพราะพลังของการทบต้น นั่นเอง นอกจากนั้น เหตุผลปลีกย่อยที่ทำให้กองทุนเชิงรับเป็นที่สนใจก็คงจะเป็นเรื่องของ ความง่ายในการติดตาม เพราะเพียงผู้ลงทุนดูการเปลี่ยนแปลงของดัชนีอ้างอิง เช่นดัชนี SET50 ในโทรทัศน์ หรือหน้าหนังสือพิมพ์ ก็สามารถจะทราบได้ว่าผลการดำเนินงานของกองทุนที่ตนลงทุนนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งธรรมชาติของผลตอบแทนของกองทุนเชิงรับนั้น ในปีที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน กองทุนเชิงรับจะสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีและเอาชนะกองทุนเชิงรุกโดยส่วนใหญ่ เพราะมีการลงทุนในหุ้นอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียง 100% ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนเชิงรุกนั้นอาจมีการใช้ดุลยพินิจถือครองเงินสดอยู่ส่วนหนึ่ง หรืออาจเลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้มีการปรับตัวขึ้นเท่ากับการปรับขึ้นของตลาดหุ้น จึงทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนไป

from http://www.thaimutualfundnews.com/popup.php?type=article&id=81


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)