18 กรกฎาคม 2553

วิวาห์ว้าวุ่น

วิวาห์ว้าวุ่น

“รักเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของหนทางอันยาวไกล ................”

เรื่องเงินๆ ทองๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของความร้าวฉานของความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าคู่ค้า เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งคู่รัก ถึงแม้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันจะพัฒนาเข้าสู่แนวความคิดตะวันตกในแทบทุกเรื่อง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังคงมีความคาดหวังที่ผู้ชายควรเป็นผู้ดูแลผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเงิน แต่แม้กระนั้นเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการใช้ชีวิตคู่ยังคงเป็นประเด็นที่คู่รักทั้งหลายไม่ควรมองข้าม แม้จะอยู่เพียงขั้นคบหาดูใจก็ตาม

James E. McWhinney นักวางแผนทางการเงินได้ให้แง่คิดในด้านบริหารเงินในการใช้ชีวิตคู่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้เขียนขอนำมาปรับให้เข้ากับสังคมไทยดังนี้ค่ะ

1) หนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นภาระการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และอื่นๆ อีกจิปาถะ การมีหนี้สินมิใช่ความผิด แต่ประเภทของหนี้สินอาจช่วยบ่งชี้ได้ว่า คนที่เราประสงค์จะเดินร่วมทางนั้นมีพฤติกรรมใช้เงินอย่างไร เช่น เป็นคนมีความรับผิดชอบ สร้างอนาคต หรือพร้อมที่จะกู้ทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อมาใช้จ่ายเที่ยวเล่นในวันนี้

2) นิสัยการออม บางคนไม่เคยมีแนวความคิดเรื่องการออมเงินโดยสิ้นเชิง ในขณะที่บางคนมีนิสัยระมัดระวังการใช้จ่าย การใช้ชีวิตร่วมกันเมื่อน้ำต้มผักเริ่มขม ฝ่ายที่ช่างเก็บจะต้องเตรียมพร้อมถนอมปากออมคำ ไม่พูดจาให้เสียดใจ

3) ฐานะและหน้าที่การงาน ในสังคมไทยหากฝ่ายชายจะมีฐานะหน้าที่การเงินที่ดีกว่า ก็ดูจะไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่หากเป็นฝ่ายหญิงที่เหนือกว่าฝ่ายชาย ปัญหามักจะตกหนักที่คุณผู้ชายต้องไม่ “ส่งจิตออกนอก” ฟังเสียงนกเสียงกา หรือคิดน้อยเนื้อต่ำใจไปเองจนสร้างปัญหาความสัมพันธ์ขึ้นได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายหญิงก็ต้องคอยระมัดระวังคำพูดคำจาที่อาจไปขยายบาดแผลดังกล่าวให้มีขนาดใหญ่และลุกลามเกินเยียวยาในอนาคต

4) “ของฉัน ของเธอ ของเรา” vs “ของฉัน แต่เงินเธอ (อยู่ดี)” ในครอบครัวประชาธิปไตยที่ทั้งคู่ล้วนมีรายได้ ค่าใช้จ่ายในบ้านมักแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ทั้งคู่อาจจ่ายร่วมกัน เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ โดยแต่ละคนมีสิทธิที่จะซื้อของที่ตนเองต้องการเพิ่มเติมได้ด้วยเงินของตนเอง หรือแบ่งจ่ายกันบางเรื่อง โดยค่าใช้จ่ายส่วนกลางของแต่ละคนอยู่ในระดับพอๆ กัน ในขณะที่บางครอบครัวที่แม้ทั้งคู่มีรายได้ แต่ฝ่ายหญิงยังคงประสงค์ที่จะพึ่งพาฝ่ายชายในด้านการเงิน ในกรณีนี้ผู้หญิงมักจะเป็นผู้มีสิทธิในการซื้อข้าวของ (ทั้งในส่วนของเรา ของฉัน และอาจเลยไปถึงของเธอด้วย) โดยมีฝ่ายชายเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ซึ่งก่อนการร่วมหอลงโรง คู่ชีวิตควรที่จะมีโอกาสตกลงร่วมกันก่อนว่าจะเลือกแนวทางปรองดองในรูปแบบใด

5) จะมีลูกหรือไม่ ต้นทุนการเลี้ยงลูกจนจบมหาวิทยาลัย 1 คนสำหรับครอบครัวชั้นกลางนั้นสูงถึงเกือบ 10 ล้านบาท (คำนวณรวมผลจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย) นี่เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งคนในประเทศที่มีต้นทุนค่าครองชีพสูงหลีกเลี่ยงที่จะมีบุตรกัน ดังนั้น การมีจุดร่วมตรงกันในเรื่องนี้น่าจะช่วยลดความอึดอัดใจในภายหลังได้

6) ภาระครอบครัวของแต่ละคน โชคดีว่าสังคมไทยเป็นสังคมกตัญญู แต่ปัญหาก็ยังมีได้หากบางคนอาจมีขอบเขตด้านการกตัญญูอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการเอื้อเฟื้อดูแลครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจสร้างเรื่องหงุดหงิดได้มากมาย เช่น “ทำไมพี่น้องคนอื่นไม่ช่วยบ้าง ทำไมต้องเป็นภาระคุณคนเดียว” “ลูกพี่ชายคุณโตแล้วทำไมไม่รู้จักหารายได้พิเศษ” ฯลฯ นี่คือเรื่องจริงที่หลายคนปฏิเสธที่จะพูดถึงหรือยอมรับกันออกมาตรงๆ เพราะไม่อยากดูเป็นคนไม่ดี (ถ้าใครรู้เข้า) ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการทำใจให้มีความสุขกับการตอบแทนบุญคุณของอีกฝ่าย แต่ถ้านั่นเป็นสิ่งยากเกินรับได้สำหรับบางคน การพูดคุยกันก่อนก็นับเป็นทางออกที่ดี

ความรักอาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่ความเข้าใจ การสื่อสาร และการลดอคติจะช่วยให้ความรักยืนยาวออกไปได้

from
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20100718/343595/วิวาห์ว้าวุ่น.html


1 ความคิดเห็น:

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)