06 มีนาคม 2554

พาลพาไปหาผิด บัณฑิตพาไปหาผล

ปาฐกถาธรรมเรื่อง
พาลพาไปหาผิด บัณฑิตพาไปหาผล
โดย พระภาวนาวิสุทธิคุณ (เสริมชัย ชยมงฺคโล ป.ธ.๖)
เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี (แห่งที่ ๑)
เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๘.๐๐ น.
_____________

“อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”
การไม่คบคนพาลทั้งหลาย ๑ การคบแต่บัณฑิตทั้งหลาย ๑
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด.

เจริญสุข/เจริญพร ญาติโยมสาธุชนผู้ฟังทุกท่าน

สำหรับรายการในวันนี้ จักได้กล่าวถึง เรื่อง “พาลพาไปหาผิด บัณฑิตพาไปหาผล” โดยความหมายว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล ตามนัยแห่งพระพุทธดำรัส ตรัสมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ แก่เทพยดาองค์หนึ่ง ที่ได้มาทูลขอพระพุทธองค์ ให้ทรงแสดงมงคล ในราตรีปฐมยามล่วงแล้ว ณ พระเชตวันมหาวิหาร

พระคาถาที่ได้ยกขึ้นแสดงไว้ในเบื้องต้นนั้น เป็นพระคาถาที่ ๑ ที่ได้ทรงแสดงมงคล ๓ ประการ ดังจะได้อธิบายขยายความ ต่อไป

ความหมายของคำว่า “คบ” “คนพาล” “บัณฑิต”

(ตามปทานุกรม ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)

คำว่า “คบ” ตรงกับศัพท์บาลีว่า “ภชติ” แปลว่า คบหา หรือตรงกับศัพท์ว่า “เสวนา” แปลว่า ความเสพ หรือ ซ่องเสพ ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า to serve, to honour, to acquaint, to embrace, to devoted to, to follow, to obtain ซึ่งแปลความว่า รับใช้ (ยอมตัวรับใช้), ให้เกียรติยกย่อง, คุ้นเคย (คลุกคลี ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมคิด ร่วมเห็น), รับรองโอบอุ้ม, ยอมรับนับถือ (ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อ...), ปฏิบัติตามอย่าง และ/หรือ รับเข้าไว้ (เป็นพรรคพวกคตินิยมเดียวกัน เป็นต้น)

เพราะเหตุนั้น คำว่า “คบ” หรือ “คบหา” หรือ “ซ่องเสพ” ในพระคาถานี้ พึงทราบว่า เพียงการรู้จักกันอย่างผิวเผินโดยธรรมดาทั่วไปในสังคม หรือเพียงการทำงานร่วมกัน หรือติดต่อกันในวงงาน แต่ยังไม่ลึกซึ้งถึงขั้นเป็นเพื่อนร่วมชีวิตจิตใจ คือ ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมคิด ร่วมเห็นกัน หรือเป็นพรรคพวกผู้คุ้นเคยใกล้ชิดสนิทสนมกัน เข้ากันได้สนิท โดยการยอมรับนับถือ ประพฤติตามอย่างกัน รับรองโอบอุ้ม ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อกัน ถ้ายังไม่ถึงขั้นนี้ ก็ยังไม่จัดว่าเป็นการ “คบ” “คบหา” หรือ “ซ่องเสพ” กัน

คำว่า “พาล” ตรงกับศัพท์บาลีว่า “พาโล” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า foolish, ignorant หรือ a child แปลความว่า คนพาล คนอ่อน คนโง่เขลา คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา คนอ่อนทางสติปัญญา เหมือนเด็กๆ มีศัพท์บาลีอีกศัพท์หนึ่งว่า “พาลตา” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า foolishness, ignorance หรือ childhood ซึ่งแปลความว่า ความโง่เขลาเบาปัญญา หรือ ความเป็นผู้มีสติปัญญาอ่อนเหมือนเด็กๆ นั่นเอง

ส่วนคำว่า “บัณฑิต” ตรงกับศัพท์บาลีว่า “ปณฺฑิโต” ซึ่งตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า a scholar, a learned man, wise แปลว่า ผู้มีปัญญา ผู้มีปรีชาหลักแหลม หรือนักปราชญ์ และมีศัพท์บาลีอีกศัพท์หนึ่งว่า “ปณฺฑิตตา” ซึ่งแปลว่า ความเป็นบัณฑิต คือ ความเป็นผู้มีปัญญา หรือความเป็นผู้มีปรีชาหลักแหลม นี้ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า scholarship หรือ cleverness

ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้อธิบายความหมาย พระพุทธดำรัสตรัสมงคลข้อ “การไม่คบคนพาล การคบแต่บัณฑิต” นี้มีปรากฏในคัมภีร์ปกรณ์พิเศษ “มังคลัตถทีปนี” ตอนที่ว่าด้วย เสพและไม่เสพพาลและบัณฑิต มีความโดยย่อ ว่า

การไม่คบคนพาลนั้นเป็นเพื่อน ชื่อว่า “การไม่คบ”
การไม่เข้าพวกด้วยคนพาลนั้น ชื่อว่า “การไม่เสพ”

สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติบาต เป็นต้น ชื่อว่า “คนพาล” ที่ท่านเรียกว่า “คนพาล” เพราะไม่ดำเนินชีวิตเป็นอยู่ด้วยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา เพียงเป็นอยู่ด้วยอาการสักว่าหายใจ

สัตว์ผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ มีเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ชื่อว่า “บัณฑิต” ที่ท่านเรียกว่า “บัณฑิต” เพราะดำเนินชีวิตเป็นไปอยู่ในประโยชน์ทั้งหลาย ทั้งประโยชน์อันเป็นไปในภพนี้ และภพหน้า ด้วย “ญาณคติ” และเป็นไปในประโยชน์ทั้งหลายอันสุขุม ด้วยปัญญาอันเห็นชอบในความจริงอย่างประเสริฐ ว่า อย่างนี้เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ อย่างนี้เป็นสภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ อย่างนี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ และถึงบรมสุขอย่างถาวร ปัญญานั้น ชื่อว่า “ปัณฑา” เหตุนั้นท่านผู้ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วย “ปัณฑา” จึงชื่อว่า “บัณฑิต”

เพราะเหตุนั้น คำว่า “บัณฑิต” ในพระคาถานี้ จึงมิได้หมายถึงเพียงสักว่าเป็นผู้มีความรู้ จากการเรียนจบการศึกษาศิลปวิทยาแล้วได้ปริญญาในทางโลก แต่ขาดคุณธรรม คือ เป็นผู้ไร้ศีลธรรมประจำใจ แต่หมายถึง ธีรชน นักปราชญ์ หรือสัตบุรุษ คือ ผู้ทรงศีล ทรงธรรม ได้แก่ พระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ อย่างสูงสุดหมายถึง มุนี คือ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวก ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบ รอบรู้ทางเจริญแห่งชีวิตอันควรดำเนิน และรู้ทางเสื่อมแห่งชีวิตที่ไม่ควรดำเนิน แล้วดำเนินชีวิตตน นำตนและหมู่คณะไปสู่ความเจริญสันติสุข ได้ถึงประโยชน์สุขในปัจจุบัน และประโยชน์สุขในกาลภายหน้า และถึงความพ้นทุกข์ได้โดยสวัสดี ไม่ดำเนินชีวิตหรือนำตนและหมู่คณะไปในทางเสื่อม อันเป็นโทษเป็นความทุกข์เดือดร้อน ในกาลทุกเมื่อ

ส่วนคำว่า “คนพาล” นั้น หมายถึง คนโง่เขลาเบาปัญญา แม้จะมีความรู้ในทางโลก แต่อ่อนหรือด้อยทางปัญญาอันเห็นชอบ จึงไม่รู้บาป-บุญ-คุณ-โทษ ไม่รู้ทางเจริญ ทางเสื่อม แห่งชีวิตตามที่เป็นจริง จึงมักหลงคิดผิด มีความเห็นผิดๆ จากทำนองครองธรรม จึงเป็นผู้ตัดเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ประโยชน์สุขทั้ง ๒ คือ ประโยชน์สุขในปัจจุบัน และประโยขน์สุขในกาลภายหน้า จึงมักประพฤติผิดศีล ผิดธรรม และผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ดำเนินชีวิตเป็นอยู่ ด้วยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นผู้ประมาท ขาดสติสัมปชัญญะรู้ผิดชอบ-ชั่วดี ไม่คำนึงถึงอนาคตว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป มักหมกมุ่น-สำส่อนอยู่ในกาม มั่วสุมอยู่ตามแหล่งอบายมุข แหล่งบันเทิงเริงรมย์ สิ่งเสพติดมึนเมาเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และแหล่งการพนัน เที่ยวเตร่สนุกสนานไปวันๆ ดำเนินชีวิตตน นำตนและหมู่คณะไปสู่ความเสื่อม เป็นโทษถึงความล้มเหลวแห่งชีวิต และถึงความทุกข์เดือดร้อนต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด

อนึ่ง“ความเป็นพาล” หรือ “ความเป็นบัณฑิต” นั้น มีทั้ง “ภายนอก” และ “ภายใน”

มีทั้ง “ภายนอก” คือ ความเป็นพาล หรือความเป็นบัณฑิตในบุคคลอื่น และมีทั้ง “ภายใน” คือ ความเป็นพาล หรือ ความเป็นบัณฑิตที่มีในจิตสันดานของตนเอง เพราะเหตุนั้นการที่บุคคลใด จะรู้จักความเป็นพาล หรือความเป็นบัณฑิตในภายนอก คือ ในบุคคลอื่นได้ดี ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นรู้จักความเป็นพาลในตนเอง แล้วกำจัดความเป็นพาล คือ ความโง่เขลาเบาปัญญา ความไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ จากจิตสันดานของตน แล้วเจริญปัญญาอันเห็นชอบ รอบรู้ทางเจริญ-ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริงให้มีอยู่ในจิตสันดานของตน และประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลธรรมประจำใจ จึงชื่อว่า “บัณฑิตภายใน” กล่าวคือ มีความเป็นบัณฑิตภายในจิตสันดานของตน จึงจะสามารถรู้จักความเป็นพาล และความเป็นบัณฑิตภายนอก คือ ในบุคคลอื่นได้อย่างถูกต้องแจ่มแจ้ง และจึงจะสามารถเลือกคบแต่บัณฑิตทั้งภายในและภายนอก ไม่คบ ไม่เสพคนพาลทั้งภายในและภายนอกได้ถูกต้อง โดยประการนี้จึงเป็นข้อปฏิบัติที่จะนำตนและหมู่คณะไปสู่ความเจริญสันติสุข และถึงความพ้นทุกข์ได้โดยสวัสดีที่แท้แน่นอนได้

เพราะเหตุนั้น จึงต้องทำความเข้าใจ ให้รู้จักลักษณะของความเป็นพาล กับลักษณะของความเป็นบัณฑิต ให้ถ่องแท้ดีเสียก่อน

ลักษณะของคนพาล (ม. อุป. ๑๔/๔๖๘/๓๑๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดง “พาลลักษณะ” ว่า “ทุจินฺติตจินฺตี” คือ ลักษณะของคนพาล ให้ดูที่อัธยาศัยใจคอ ว่า คนพาลมักคิดแต่ความคิดที่ชั่ว คิดแต่เรื่องที่ชั่ว ด้วยอำนาจอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ คือ คิดชั่วด้วยอำนาจของความโลภจัด และ/หรือ ตัณหาราคะจัด ได้ตรัสแสดง “พาลนิมิต” คือ เครื่องหมายที่แสดงความเป็นพาล ว่า “ทุพฺภาสิตภาสี” แปลความว่า คนพาลมักพูดแต่คำพูดที่ชั่ว ได้แก่ มักกล่าววาจาที่เป็นเท็จ มักกล่าววาจาที่หยาบคาย มักกล่าววาจาที่ยุแยกให้เขาแตกสามัคคีกัน และมักกล่าววาจาที่เพ้อเจ้อเหลวไหล ไร้สารประโยชน์ เช่น มักกล่าววาจาที่ชี้นำ ชักนำ ให้กระทำความชั่วต่างๆ นี้อีกประการ ๑ และได้ตรัสแสดง “พาลาปทาน” คือ ความประพฤติปฏิบัติของคนพาล ที่แสดงออกทางกายบ่อยๆ หรือโดยต่อเนื่อง ให้เห็นการกระทำชั่วเป็นนิจ ว่า “ทุกฺกฎกมฺการี” แปลความว่า คนพาลมักกระทำแต่กรรมชั่ว

อีกนัยหนึ่ง ได้ทรงแสดงถึง ความประพฤติชั่วของคนพาล ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้แก่ ความประพฤติที่ผิดศีลธรรม ๑ มีเป็นต้นว่า เจตนาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เจตนาลักฉ้อ คดโกง และประกอบมิจฉาอาชีวะ ประพฤติผิดในกาม กล่าวหรือแสดงอาการที่เป็นเท็จ โกหก หลอกลวงผู้อื่น และเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นต้น อีกประการ ๑ คือ อกุศลกรรมบถ หรือทุจริต ๑๐ ได้แก่ กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓ ดังที่ได้กล่าวในข้อ พาลลักษณะ พาลนิมิต และพาลาปทาน นั้นแล้ว

นอกนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังได้ตรัสถึง ความประพฤติปฏิบัติที่เป็นทางแห่งความเสื่อมเสียโภคทรัพย์ เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง และอาจถึงเสียชีวิตได้ ชื่อว่า “อบายมุข” (องฺ. อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๕/๒๙๖, ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๗๘/๑๙๖) อันบัณฑิตละเว้นแล้ว แต่คนพาลปัญญาโฉดเขลา ยังหลงประพฤติและติดอยู่ คือ ความเป็นนักเลงผู้หญิง หรือผู้หญิงเป็นนักเลงผู้ชาย ๑ ความเป็นนักเลงสุรายาเสพติด ๑ ความเป็นนักเลงการพนัน ๑ คบคนชั่ว หรือความมีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ความติดเที่ยวกลางคืน ๑ ความติดดูการละเล่น ๑ ความเกียจคร้านในกิจการงาน ๑

ลักษณะของบัณฑิต (ม. อุป. ๑๔/๔๘๔/๓๒๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส “บัณฑิตลักษณะ” คือ อัธยาศัยของบัณฑิตว่า “สุจินฺติตจินฺตี” คือ มีความคิดที่ดี คิดแต่เรื่องดีๆ ที่เป็นบุญกุศล ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ มีคุณประโยชน์ไม่เกิดโทษ ด้วยความไม่โลภจัด ตัณหาราคะจัด ไม่พยาบาท และไม่หลงมัวเมา และทรงแสดง “บัณฑิตนิมิต” ว่า “สุภาษิตภาสี” คือ บัณฑิตกล่าวแต่วาจาที่ดี คือ ที่จริง ที่ไพเราะอ่อนหวาน ที่ประสานไมตรี และที่มีสารประโยชน์ แนะนำชักนำให้ผู้อื่นกระทำคุณความดี ละเว้นความชั่ว และชำระจิตใจให้ผ่องใส เป็นต้น และทรงแสดง “บัณฑิตาปทาน” ว่า “สุกตกมฺการี” คือ บัณฑิตนั้น เป็นผู้กระทำแต่กรรมดี คือ มีความปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลธรรมประจำใจเป็นปกติ นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสลักษณะของบัณฑิตอีกนัยหนึ่งว่า ชนเหล่าใด ย่อมปฏิบัติข้อปฏิบัติดี ให้ได้รับประโยชน์สุขทั้ง ๒ คือ ประโยชน์สุขในปัจจุบัน ชื่อ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๑ และประโยชน์สุขในกาลข้างหน้า ชื่อ สัมปรายิกัตถประโยชน์ อีก ๑ ชนนั้น ชื่อว่า “บัณฑิต” ดังพระพุทธดำรัส (สํ. ส. ๑๕/๓๘๕/๑๓๐) ว่า

“ธีรชน ท่านเรียกว่า “บัณฑิต” เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ
ประโยชน์ในทิฏฐธรรม และประโยชน์ในสัมปรายภพ”

ข้อปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์สุขในปัจจุบัน ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจการงานและอาชีพ ๑ อารักขสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์และฐานะของตน ๑ กัลยาณมิตตตา คือ ความรู้จักคบคนดีเป็นมิตร ๑ และสมชีวิตา คือ ความรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ทำมาหาได้โดยสุจริต ด้วยความพอเหมาะพอดีกับฐานะ คือ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่แร้นแค้นนัก อีก ๑

ข้อปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์สุขในสัมปรายภพ คือ ในภพชาติต่อๆ ไป ได้แก่ ศรัทธาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาในบุคคล และข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธา ๑ ศีลสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยศีล ๑ จาคะสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยความเสียสละ หรือบริจาคเพื่ออนุเคราะห์/สงเคราะห์ผู้อื่น ๑ และปัญญาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเห็นชอบในกองสังขาร ในพระอริยสัจทั้ง ๔ รวมเป็นปัญญาอันเห็นชอบในทางเจริญแห่งชีวิตอันควรดำเนิน และในทางเสื่อมแห่งชีวิตอันควรยกเว้น ๑

โทษและภูมิของคนพาล (ม. อุป. ๑๔/๔๗๒-๔๘๕/๓๑๔-๓๒๒)

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโทษ และภพภูมิของคนพาลผู้โง่เขลา เบาปัญญา มักประพฤติผิดศีล ผิดธรรม ได้แก่ ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ๑๐ ประการ ว่า เป็นเหตุให้ประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อน จากเวรภัยต่างๆ ทั้งในภพชาติปัจจุบัน และในภพชาติต่อๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด ในชาตินี้เมื่อประกอบกรรมชั่วไปแล้ว เช่น ผู้มีแต่ความคิด พูด ทำ การเข่นฆ่า ประหัตถ์ประหารผู้อื่น เมื่อถูกจับได้ย่อมได้รับโทษทัณฑ์ จากทางการบ้านเมือง และยังเป็นการก่อเวรให้เกิดมีในจิตใจของเหยื่อที่ถูกประหัตถ์ประหารนั้น ให้ผูกใจเจ็บ และมีการกระทำตอบเป็นเวรภัยสะท้อนย้อนกลับมาหาตน ทั้งในภพชาติปัจจุบันและข้ามภพข้ามชาติ ให้รบราฆ่าฟันซึ่งกันและกัน ต่อๆ ไปอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน สม ดังพระพุทธดำรัส ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”

และว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่าในกาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานล่าเนื้อ หรือสกุลคนจักสาน หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะ เห็นปานนั้น ในบั้นปลาย อันเป็นสกุลคนจน มีข้าวน้ำและโภชนาหารน้อย มีชีวิตเป็นไปลำบาก ซึ่งเป็นสกุลที่จะได้ของกิน และเครื่องนุ่งห่มโดยฝืดเคือง และเขาจะมีผิวพรรณทราม น่าเกลียดชัง ร่างม่อต้อ มีโรคมาก เป็นคนตาบอดบ้าง เป็นคนง่อยบ้าง เป็นคนกระจอกบ้าง เป็นคนเปลี้ยบ้าง ไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป เขาจะประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต [ต่อไปอีก] ครั้นแล้วเมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก [ต่อๆ ไปอีก] ฯลฯ”

และได้ตรัสถึงโทษของการติดอยู่ในอบายมุขต่างๆ (ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๗๙-๑๘๔/๑๙๖-๑๙๘) มีตัวอย่างเช่น

โทษของการเสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ คือ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือย่อมเป็นเหตุแห่งการเสียทรัพย์โดยใช่เหตุ ๑ เป็นเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาท ๑ เป็นบ่อเกิดแห่งโรคภัยเบียดเบียน ให้เสื่อมเสียสุขภาพกาย ๑ เป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ๑ เป็นเครื่องบั่นทอนสติปัญญา เสียสุขภาพจิต ๑ และเป็นเหตุให้ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้จักละอาย และ/หรือเป็นเหตุนำให้ประพฤติผิดศีล ผิดธรรม ต่อไปอีก ๑

โทษของการติดการพนัน คือ ผู้ชนะพนันย่อมก่อเวร คือ อยากเล่นอีกต่อๆ ไปจนแพ้อีก และอาจถึงหมดตัวได้ ๑ ครั้นแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ก็เล่นอีก ด้วยหวังจะได้คืน ขึ้นชื่อว่าการพนัน โอกาสชนะมีน้อยกว่า โอกาสแพ้มากมายนัก ลงท้ายก็หมดตัวจนได้ ๑ เป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินเงินทองข้าวของอื่นๆ อีก แม้ลูก-เมียก็อาจสูญเสียได้อีก ๑ คนติดการพนันไม่มีใครเชื่อถือ ๑ ผู้ติดการพนันเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของชนทั้งหลาย ๑ ผู้ติดการพนันไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย หรือรับเข้าทำงานในหน้าที่รับผิดชอบสูง ๑

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังได้ตรัสถึง โทษของการคบคนชั่วเป็นมิตร ว่า นำให้ประพฤติผิดศีล ผิดธรรมต่าง ๆ ได้แก่ นำให้เป็นนักเลงการพนัน ๑ นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๑ นำให้เสพสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑ นำให้เป็นคนหลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต ๑ นำให้เป็นคนคดโกง ๑ นำให้เป็นคนหัวไม้ ๑

ตัวอย่างที่เห็นๆ เป็นข่าวในสังคมอยู่ในทุกวันนี้ ก็คือ นำให้ประกอบมิจฉาอาชีวะต่างๆ ได้แก่ นำให้ผลิต จำหน่าย จ่ายแจก สิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ และนำหรือส่งเสริมให้ประกอบกิจการอบายมุขต่างๆ เช่น แหล่งมั่วสุมสิ่งเสพติด แหล่งบริการทางเพศ และแหล่งการพนัน เป็นต้น

และยังมีข่าวว่า มีผู้พยายามผลักดันให้มีกฎหมายเปิดบ่อนการพนัน “บ่อนคาสิโนเสรี” โดยไม่คำนึงถึงปัญหาทางสังคม ที่จะเกิดตามมานับนาๆ ประการ อาศัยความโลภจัด เห็นเฉพาะเรื่องเงินเป็นพระเจ้า จึงพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น อ้างว่า จะให้มีการควบคุมให้เข้าเล่นได้แต่เฉพาะชาวต่างชาติ พวกเศรษฐีมีเงิน แท้ที่จริงแล้วคุมได้ยาก และใช่ว่าจะได้รายได้เข้ารัฐบาลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะขึ้นชื่อว่า “การพนัน” นั้นมักเป็นกิจกรรมคู่กับการคดโกงคอร์รัปชั่นชั้นเซียนเหยียบเมฆ และยังจะเกิดโทษอีกนาๆ ประการ ดังผู้รู้ได้เขียนวิจารณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีหัวข้อคอลัมน์ ว่า “บ่อนคาสิโนไม่เพิ่มรายได้เกษตรกรในประเทศ” มีความว่า

“ถ้าในประเทศไทยเปิดบ่อนคาสิโนเสรี ตอนแรกก็คงเคร่งครัดให้เฉพาะคนต่างชาติ คนมีฐานะ แต่ต่อไปก็จะลดความเข้มงวดลง คนชั้นกลางที่ไม่เคยไปเข้าบ่อนนอกประเทศจะเข้าบ่อนไทยง่ายกว่า จะหมดตัว ครอบครัวลำบาก ฆ่าตัวตาย สังคมเสื่อมทราม เงินของคนจำนวนมากจะไปตกอยู่ในมือของคนร่ำรวย มีอิทธิพลไม่กี่คน ไม่กี่ครอบครัว และไม่ใช้จ่ายเงินในประเทศไทย บ่อนคาสิโนไม่มีอะไรดี กับประเทศเกษตรกร อย่างประเทศไทยเรานี้เลย”

สังคมไทยถูกมอมเมาด้วย “สิ่งอันให้โทษ” ได้แก่ ยาเสพติด แหล่งบันเทิงเริงรมย์ สื่อลามกยั่วยุกามารมณ์ และ “สิ่งอันอาจให้โทษ” ได้แก่ เทคโนโลยีที่เป็นดาบสองคม ทั้งให้คุณและให้โทษ แก่ผู้ด้อยทางสติปัญญา รอบรู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง เป็นสังคมเสื่อมทรามทางศีลธรรม เป็นสังคมป่วยจนร่อแร่อยู่แล้ว ยังจะยัดเยียดการพนันเสรีมอมเมา ซ้ำเติมให้สังคมไทยกลายเป็นเมืองบาป เมืองอบายมุข ที่เต็มไปด้วยแหล่งการพนัน แหล่งมั่วสุมยาเสพติด แหล่งฟรีเซ็กซ์ แหล่งคอร์รัปชั่น และอาชญากรรม ให้ประเทศไทยกลายเป็น อปฏิรูปเทศ เร็วยิ่งขึ้นอีกหรือ เท่าที่เป็นอยู่นี้ยังไม่เสื่อมเสียพออีกหรือ ?

สรุปความว่า ในโลก คือ ชุมนุมมนุษย์ ทั้งถิ่นที่พำนัก ย่อมเป็นที่รวมสิ่งอันให้โทษโดยส่วนเดียว เปรียบด้วยยาพิษก็มี เช่น บุหรี่ สุรา ยาเสพติดให้โทษต่างๆ แม้การพนัน ความเกียจคร้านในการงาน และการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นต้น สิ่งอันให้โทษในเมื่อเกินพอดี เปรียบด้วยของมึนเมาก็มี เช่น สิ่งบันเทิงเริงรมย์ ถ้ามากไปก็ให้โทษ คือ เสียทรัพย์ เสียเวลาโดยใช่เหตุ และเสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต เป็นต้น สิ่งอันเป็นอุปการะ เปรียบด้วยอาหารและเภสัชอันสบาย แต่ถ้าใช้ในทางผิดอาจให้โทษได้ก็มี เป็นต้นว่า คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นดาบสองคม ที่ให้ทั้งคุณและโทษ ที่เป็นโทษก็คือ สามารถใช้ดูทั้งแผ่น วีซีดี และซีดีโป๊ก็ได้ เข้าอินเตอร์เน็ต ดูเวปไซด์ลามกก็ได้ แม้โทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ที่สามารถใช้ติดต่อถึงกันได้สะดวก ไม่ว่าในทางดี หรือทางชั่ว เช่น ใช้ติดต่อซื้อ-ขายยาเสพติดก็ได้ ติดต่อเพื่อเพศสัมพันธ์ หรือขายเซ็กซ์ก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น แม้การแต่งตัว หรือเครื่องแต่งตัว ถ้าแต่งตัวดี เหมาะสม ก็ดูดี ถ้าแต่งตัวล่อแหลม ยั่วยุกามารมณ์ ก็อาจให้โทษ เช่น อาจถูกฉุดคร่าอนาจารได้ พาลชนผู้ไร้พิจารณ์ไม่หยั่งเห็นโดยถ่องแท้ ย่อมเพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ ย่อมละเลิงจนเกินพอดีในสิ่งอันอาจให้โทษ ย่อมติดในสิ่งเป็นอุปการะ ชื่อว่า หมกมุ่นติดอยู่ในโลก ถอนตนไม่ออก เช่นนี้ย่อมได้เสวยทุกข์บ้าง สุขบ้าง อันสิ่งนั้นๆ พึงอำนวย แม้สุขก็เป็นเพียงสามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อเจือด้วยของล่อใจ ชื่อว่า “บ่วงแห่งมาร” เป็นเหตุแห่งความติด ดุจเหยื่อ คือ ชิ้นเนื้ออันเบ็ดเกี่ยวไว้ ล่อปลาให้ฮุบเหยื่อ แล้วก็ติดเบ็ด จึงเป็นผู้อันจะพึงถูกกิเลสมารจูงไปได้ตามปรารถนา

ฝ่ายบัณฑิตผู้มีปัญญา พิจารณาเห็นความเป็นจริงแห่งสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นเช่นไรแล้ว ก็ไม่ข้องเกี่ยว ไม่พัวพันในสิ่งอันล่อใจ อันใครๆ ไม่อาจยั่วให้ติดด้วยประการใดประการหนึ่งได้ ย่อมเป็นอิสระจากกิเลสมารด้วยตน เช่นนี้ย่อมได้สุขเป็นนิรามิส คือ เป็นความสันติสุขอันมิต้องอาศัยเหยื่อ จึงไม่ติดเหยื่ออันเป็นบ่วงแห่งมารให้เป็นทุกข์ มีแต่สุขอันสุขุมเกิด ณ ภายใน

พาลชน คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ ไม่รู้จักทางเจริญแห่งชีวิตอันควรดำเนิน และไม่รู้ทางเสื่อมแห่งชีวิตอันควรงดเว้น เขาจึงดำเนินชีวิตความเป็นอยู่สักว่ามีลมหายใจ มักหลงมัวเมาในชีวิตไปตามกระแสโลก ที่เจริญก้าวหน้าแต่เทคโนโลยี และกามวัตถุเครื่องล่อใจ แต่ขาดการอบรม การพัฒนาทางจิตใจ ประกอบด้วยมีอิสรเสรีภาพอย่างกว้างขวางตามกฎหมาย จนหมู่ชนผู้ไร้สติปัญญาสำลักเสรีภาพ ทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ราคะ กลายเป็น “สังคมบริโภคนิยม” บ้าง “สังคมนิยมรักสนุก” บ้าง จนไกลไปถึง “สังคมเซ็กซ์นิยม” อย่างไม่มีขีดจำกัดความพอเหมาะพองาม จึงมักประพฤติผิดศีล ผิดธรรม หลงติดอยู่กับอบายมุขต่างๆ นำชีวิตตนและหมู่คณะไปสู่ความเสื่อม ความล้มเหลวแห่งชีวิต ให้ต้องประสบความทุกข์เดือดร้อนอยู่ร่ำไป ส่วนบัณฑิต คือ ผู้มีปัญญา รู้ทางเจริญทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ท่านจึงดำเนินชีวิต เป็นอยู่ด้วยญาณคติ เป็นไปในทางเจริญและสันติสุขแห่งชีวิต ไม่ไปในทางเสื่อม ให้เป็นโทษ เป็นความทุกข์เดือดร้อน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัส (องฺ ติก. ๒๐/๔๔๐/๑๒๗) ว่า ภัยอันตรายย่อมเกิดแต่คนพาล คือ คนพาลนั้นเองเป็นภัยอันตราย ทั้งแก่ตนเอง และทั้งแก่ผู้อื่นด้วย ภัยอันตรายไม่เกิดแต่บัณฑิต คือ บัณฑิตไม่เป็นภัยอันตรายแก่ใครๆ อุปัทวะ หรือความอัปมงคล ก็เกิดแต่คนพาล เพราะความเป็นพาลนั้นเอง เป็นความอัปมงคล คือ นำความเสื่อมเสียมาสู่ทั้งตนเองและผู้อื่น อุปัทวะ ไม่มีแต่บัณฑิต บัณฑิตมีแต่มงคล คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความเจริญและสันติสุขถ่ายเดียว อุปสรรค์ เหตุขัดข้องต่อการกระทำกรรมดีทั้งหลาย ก็เกิดแต่คนพาล เพราะคนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย ไม่ยอมรับรู้ศีลธรรม ชอบแนะนำแต่สิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ชอบประกอบ ชอบทำแต่เรื่องที่ไม่ใช่ธุระที่ควรทำ คนพาลชอบถือความชั่วเป็นความดี คนพาลนั้นแม้เราพูดดี ตักเตือนแนะนำกันดีๆ ก็ไม่ฟัง แถมยังโกรธเอาด้วย และคนพาลไม่รู้จักอุบายแนะนำทางที่ดีแก่ใครๆ อุปสรรค์เหตุขัดข้อง ไม่เกิดแต่บัณฑิต บัณฑิตมีแต่ชักนำ สนับสนุนการกระทำกรรมดีทั้งหลายทางเดียว

เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสมงคล คือ ข้อปฏิบัติที่ดีงาม ที่ประเสริฐสูงสุด ให้ถึงความเจริญและสันติสุข ทั้งในปัจจุบันอนาคต ด้วยความสวัสดี ว่า การไม่คบคนพาลทั้งหลาย การคบแต่บัณฑิตทั้งหลาย และการนับถือบูชา ได้แก่ ปฏิบัติตามอย่างบัณฑิตทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล คือ เป็นข้อปฏิบัติที่ดี ที่ประเสริฐสูงสุด อันนำไปสู่ความเจริญสันติสุข และความพ้นทุกข์อย่างแน่นอนแท้จริงได้ สมดังสุภาษิตโบราณ ท่านว่า

“คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”

ด้วยประการฉะนี้

วันนี้ขอยุติแต่เพียงนี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน เจริญพร



from http://www.dhammakaya.org/dhamma/lecture/lecture66.php


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)