19 มีนาคม 2554

อันตรายภัยนิวเคลียร์และวิธีรับมือ

สถานการณ์อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.54 เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทุกขณะ และสร้างความตื่นตระหนก ตระหนักรู้ไปทั่วโลก และขณะที่หลายชาติออกมาเคลื่อนไหวทบทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศของตนนั้น หน่วยงานหลายหน่วยงาน รวมทั้งสื่อนานาชาติก็ออกมาเผยแพร่วิธีการรับมือกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสารกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นสู่โลกภายนอก ซึ่งมีสาระที่น่ารู้นับตั้งแต่การป้องกันตนเองจากอันตรายดังกล่าวในเบื้องต้นอย่างไร ไปจนถึงความรุนแรงของวิกฤติที่เกิดขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ในระดับต่างๆ ที่พึงทราบ ดังนี้


วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

สำนักข่าวเกียวโดแนะนำวิธีเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีดังต่อไปนี้

1. หากมีคำสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านหรืออาคาร ประชาชนที่เพิ่งกลับเข้าบ้านหรืออาคารต้องถอดเสื้อผ้า รองเท้า และทุกอย่างที่สวมใส่ออกให้หมด จากนั้นใส่ในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เนื่องจากอาจมีสารกัมมันตรังสีติดมาด้วย ความจริงแล้วสารเหล่านี้จะหลุดออกไปเมื่อผ่านการซักล้าง ส่วนเส้นผม ใบหน้า และร่างกาย ให้ล้างทำความสะอาดด้วยแชมพูและสบู่ แต่หากไม่มีน้ำใช้ในปริมาณมาก ให้เช็ดตัวด้วยผ้าหรือทิชชูชุบน้ำหมาดๆแทน

2. เมื่ออยู่ในบ้านหรืออาคารแล้ว ควรจะปิดเครื่องระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่มีการถ่ายเทอากาศระหว่างภายในและภายนอกอาคาร ขณะเดียวกันก็ควรปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน ส่วนอาหารควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดหรือห่อไว้ และหากจำเป็นก็ควรจะแช่เย็น สำหรับน้ำดื่มควรบรรจุในหม้อ ถัง หรือภาชนะอื่นๆ

3. หากมีคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่ ต้องปิดวาล์วแก๊สและถอดปลั๊กไฟออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ และหลังจากล็อกประตูบ้านเรียบร้อยแล้ว ประชาชนต้องเดินไปยังจุดรวมพลและทำตามคำสั่งของผู้นำ ความจริงแล้วการขับรถไปยังจุดรวมพลนั้นสามารถทำได้ แต่ช่วงดังกล่าวการจราจรอาจจะติดขัดมาก หรือหากจำเป็นต้องจอดรถกลางถนน รถของท่านก็จะเป็นอุปสรรคต่อรถขนส่งปัจจัยที่จำเป็นหรือรถดับเพลิง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้รถหากเป็นไปได้

4.สิ่งของที่ควรพกติดตัวไปคือ หน้ากาก หมวก และเสื้อคลุมที่มีหมวก เพื่อลดการสัมผัสกับสาร หากมีฝนหรือหิมะตกให้สวมรองเท้าบู๊ตและถุงมือ ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการสูดดมสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย นอกจากนั้นควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น อย่างเช่น ไฟฉาย วิทยุพกพา เสื้อผ้า ฯลฯ

5.หากอยู่นอกพื้นที่ที่มีคำสั่งให้ทำการอพยพนั้น ควรสวมหน้ากากหรือย้ายที่อยู่ไปยังจุดที่ห่างออกไป อย่างไรก็ตาม สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ไม่มีความจำเป็นต้องออกจากพื้นที่ในทันที

6.ปัจจัยด้านสภาพอากาศก็มีส่วนสัมพันธ์กับระดับสารกัมมันตรังสี โดยปริมาณสารกัมมันตรังสีที่เพิ่มขึ้นในอากาศอาจมีปริมาณน้อยลงเมื่อฝนตก กระแสลมแรงอาจทำให้สารกัมมันตรังสีที่โดยปกติแล้วจะมีอาคารหรือภูเขาเป็นด่านป้องกันนั้น แพร่กระจายออกไปไกล อย่างไรก็ตาม สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ระบุว่า โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดพื้นที่สำหรับการอพยพ โดยพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ทางการกำหนด

7.ประชาชนพึงระวังอันตรายจากการบริโภคอาหารที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนมากับน้ำหรือพืชผลทางการเกษตร รัฐบาลอาจจะจำกัดการขนส่งผลผลิตจากบางพื้นที่ หลังมีการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีในพื้นที่นั้นๆ สำนักงานวิทยาศาสตร์รังสีแห่งชาติขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจากพื้นที่ที่มีการอพยพ จนกว่าจะมีการยืนยันเรื่องความปลอดภัย

8.สำหรับการรับประทานไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีนั้น มีคำเตือนว่า การรับสารไอโอดีนในปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ นอกจากนี้ การรับสารไอโอดีนเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้ ไอโอดีนไม่สามารถป้องกันกัมมันตรังสีทุกประเภทได้ ดังนั้น การรับประทานสารโอโอดีนจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ


สารกัมมันตรังสี –มะเร็งไทรอยด์-ไอโอดิน

หลายสื่อในประเทศไทยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับ สารกัมมันตรังสี –มะเร็งไทรอยด์-ไอโอดิน โดยรศ.นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไว้ดังนี้

สารกัมมันตรังสี กับมะเร็งไทรอยด์
สิ่งที่คนกลัวกันมากเรื่องระเบิดนิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด หรือมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหล คือ การที่สารกัมมันตรังสีทำให้เราตายได้ การได้รับสารกัมมันตรังสี ปริมาณมากๆ อยู่ใกล้กับแหล่งระเบิดมากๆ จะทำให้เซลล์ของร่างกายหยุดเจริญเติบโต มีแผลตามร่างกาย เม็ดเลือดต่ำทั้งเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ร่างกายอ่อนเพลีย และเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต ถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน แต่หากปริมาณรังสีที่ได้รับเป็นจำนวนน้อย อยู่ห่างจากแหล่งที่เกิดระเบิด ปริมาณรังสีนั้นอาจไม่มากพอที่จะทำอันตรายโดยตรงกับร่างกายของเรา แต่อาจทำให้เซลล์บางส่วนผิดปกติ และเกิดเป็นมะเร็งขึ้นภายหลัง ซึ่งหนึ่งในเซลล์ของร่างกาย ที่ไวต่อสารกัมมันตรังสีมากที่สุด คือ ไทรอยด์ ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์ของร่างกายได้รับสารรังสีเกินขนาด อาจทำให้เกิดมะเร็งขึ้นในอนาคตได้ อาจจะ 10-20 ปีต่อมา ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ

ฝนรังสี กับมะเร็งไทรอยด์
สารกัมมันตรังสี ที่ตกค้างหลังการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจลอยอยู่ในอากาศ และตกลงมาพร้อมกับฝนได้ ดังนั้น การถูกฝนในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งระเบิดจึงอาจได้รับปริมาณรังสีจากการระเบิดได้ แต่อย่างไรก็ดี จะเกิดเฉพาะรอบๆ แหล่งระเบิดเท่านั้น ฝนดังกล่าวจะไม่สามารถมาจากญี่ปุ่นถึงไทย

เกลือไอโอดีนเม็ด ป้องกันมะเร็งไทรอยด์ได้อย่างไร ในผู้ที่ได้รับสารกัมมันตรังสี
ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่ดูดจับไอโอดีนที่เข้ามาในร่างกายได้เร็วที่สุด และมากที่สุดร้อยละ 99 ของไอโอดีนที่ร่างกายรับเข้าไปจะถูกจับที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้น หากน้ำดื่ม ปลา อาหาร ที่อยู่ในบริเวณที่มีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจมีสารกัมมันตรังสีในปริมาณสูง และไอโอดีนเป็นสารที่จับสารกัมมันตรังสีได้เร็วที่สุด ดังนั้น หากรับประทานอาหารจากแหล่งดังกล่าว ต่อมไทรอยด์จะรับสารไอโอดีนที่มีกัมมันตรังสีเข้าไปด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ธรรมชาติได้ช่วยร่างกายเราไว้อย่างหนึ่งคือ หากต่อมไทรอยด์ได้รับไอโอดีนจนอิ่มแล้ว จะไม่รับไอโอดีนเพิ่มเข้าไปอีก หรือรับแต่เพียงเล็กน้อย ดังนั้น ในกลุ่มเสี่ยง หากกินไอโอดีนเม็ดเข้าไปในปริมาณพอเหมาะ จะทำให้ต่อมไทรอยด์อิ่ม และดูดจับไอโอดีนที่มีสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนกับอาหารและน้ำได้น้อยลง เราจึงเสี่ยงลดลง การกินไอโอดีนเม็ดจึงจำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในบริเวณกับที่เกิดเหตุเท่านั้น

คนปกติกินไอโอดีนเม็ด มีโทษ ทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษได้
การกินไอโอดีนเม็ด จะไม่แนะนำในคนปกติ เพราะหากร่างกายรับไอโอดีนเข้าไปในปริมาณมากเกิน ระยะแรกจะทำให้ต่อมไทรอยด์หยุดทำงานชั่วคราว เกิดอาการอ่อนเพลีย แต่หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน ต่อมไทรอยด์จะทำให้ไอโอดีนที่กินเข้าไปสร้างเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งหากกินไอโอดีนเม็ดเข้าไปมาก จะทำให้เกิดภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์เกิน (hyperthyroid) หรือ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งเป็นโรคอย่างหนึ่ง แต่ต้องการการรักษา หากไม่รักษา ร่างกายจะอ่อนเพลีย เหนื่อย ผอมลง ดังนั้น คนทั่วไปจึงห้ามกินไอโอดีนเม็ด ถ้าไม่ใช่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้บริเวณที่รับสารกัมมันตรังสี มีโทษต่อร่างกาย

ระดับปริมาณรังสีและผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์
ผลกระทบมากหรือน้อย ของ"ปริมาณรังสี" คือปริมาณการรับหรือดูดกลืนรังสี (absorbed dose) จากการได้รับรังสีปริมาณมากในครั้งเดียว (acute exposure) ขึ้นกับปริมาณของรังสี ดังนี้
20 Svมีผลต่อประสาทรับรู้ และเกิดอาการสั่นอย่างรุนแรง จากนั้นจะเสียชีวิตภายไม่กี่ชั่วโมงหลังรับรังสี
10 Svทำลายอวัยวะภายใน เลือดออกภายใน ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในเวลาเป็นวันหรือประมาณ 2 สัปดาห์
6 Svเจ้าหน้าที่ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้รับ และเสียชีวิตภายใน 1 เดือน
5 Svถ้าได้รับรังสีอย่างเฉียบพลันเพียงครั้งเดียว ส่งผลให้พิการไปครึ่งร่าง
1 Svเกิดการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากรังสี และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในภายหลัง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
750 mSvผมร่วงภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับรังสี
700 mSvอาเจียนภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับรังสี
400 mSv เป็นอัตรารังสีต่อชั่วโมงที่มากที่สุดที่ตรวจวัดได้ ที่โรงไฟฟ้าฟิกูชิมะ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.54
350 mSv อัตราที่ชาวเมืองเชอร์โนบิลได้รับ ก่อนอพยพออกจากเมือง
100 mSvอัตราจำกัดสำหรับคนทำงานด้านรังสีที่ให้สะสมไม่เกิน 5 ปี โดยถ้าได้รับเฉียบพลันมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในภายหลัง
10 mSvรังสีที่ได้รับจากการทำซีทีสแกน 1 ครั้ง
9 mSvรังสีที่ลูกเรือสายการบินที่บินผ่านขั้วโลกเหนือเส้นทางระหว่างนิวยอร์กซิตี้และโตเกียวได้รับในแต่ละปี
2 mSvรังสีธรรมชาติที่เราได้รับเฉลี่ยต่อปี
1.02 mSv อัตรารังสีต่อชั่วโมงที่ตรวจพบ บริเวณโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.54
0.4 mSvรังสีที่ได้รับจากเอกซเรย์เต้านมแบบแมมโมแกรม
0.01 mSvรังสีที่ได้รับจากการเอ็กซเรย์ฟัน
หมายเหตุ
1 Sv= 1,000 mSv
1 mSv = 1,000 ?Sv
1 ?Sv = 1,000 nSv
Sv - ซีเวิร์ต (Sievert), mSv - มิลลิซีเวิร์ต (millisievert), ?Sv - ไมโครซีเวิร์ต (microsievert), nSv - นาโนซีเวิร์ต (nanosievert)


ระดับความรุนแรงของวิกฤติโรงฟ้านิวเคลียร์

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ร่วมกับองค์กร Nuclear Energy Agency Organization for Economic Cooperation and Development (NEA/OECDได้กำหนดมาตรฐานสำหรับใช้รายงานอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในปี 2533 โดยเรียกว่า มาตรการระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ โดยกำหนดเป็นมาตราสากล ตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 7 ดังนี้

ระดับ 0 การเบี่ยงเบน Deviation เหตุการณ์ที่เกิดความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามปกติ ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย

ระดับ 1 เหตุผิดปกติ Anomaly เหตุการณ์ที่แตกต่างจากเงื่อนไขตามที่อนุญาตให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ไม่มีผลกระทบด้านความปลอดภัย ไม่มีการเปรอะเปื้อนสารกัมมันตรังสี หรือ ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รับปริมาณรังสีเกินเกินเกณฑ์กำหนด

ระดับ 2 เหตุขัดข้อง Incident เหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบด้านความปลอดภัย แต่ระบบป้องกันอื่นๆ ยังสามารถควบคุมสภาวะผิดปกติได้ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับปริมาณรังสีเกินเกณฑ์กำหนด หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีภายในบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งไม่ได้มีการออกแบบรองรับไว้ และต้องดำเนินมาตรการแก้ไข

ระดับ 3 เหตุขัดข้องรุนแรง Serious Incident เหตุการณ์ที่ใกล้ต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเหลือเพียงระบบป้องกันขั้นสุดท้ายยังคงทำงานอยู่ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรุนแรง หรือผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย หรือการแพร่กระจายสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณเล็กน้อยออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (กลุ่มบุคคลที่ล่อแหลมต่อเหตุการณ์ได้รับปริมาณรังสีในช่วงที่เป็นเศษส่วนในสิบของมิลลิซีเวิร์ต)

ระดับ 4 อุบัติเหตุที่ไม่มีนัยสำคัญต่อ (ผลกระทบ) ภายนอกโรงงาน แต่เป็นอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานปฏิบัติการนิวเคลียร์ในระดับสำคัญ เช่น แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายบางส่วน หรือ ผู้ปฏิบัติงานได้รับปริมาณรังสีเกินเกณฑ์กำหนด ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวป็นไปได้สูง หรือมีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอก ยังผลให้กลุ่มบุคคลที่ล่อแหลมต่อเหตุการณ์ได้รับปริมาณรังสีในช่วง 2-3 มิลลิซีเวิร์ต

ระดับ 5 อุบัติเหตุที่มีผลกระทบถึงภายนอกโรงงาน ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสถานปฏิบัติการนิวเคลียร์ หรือมีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอก ในระดับเทียบเท่ากับกัมมันตภาพของไอโอดีน-131 ในช่วง 100-1,000 เทระเบ็กเคอเรล ทำให้ต้องมีการใช้แผนฉุกเฉินบางส่วน

ระดับ 6 อุบัติเหตุรุนแรง Serious Accident อุบัติเหตุที่ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอกโรงไฟฟ้าปริมาณมากในระดับเทียบเท่ากับกัมมันตภาพไอโอดีน-131 ในช่วง 1,000-10,000 เทระเบ็กเคอเรล และต้องดำเนินการตามแผนฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ

ระดับ 7 อุบัติเหตุรุนแรงที่สุด อุบัติเหตุใหญ่หลวง ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอกในปริมาณมหาศาล ในระดับเทียบกับกัมมันตภาพไอโอดีน-131 ในช่วง 10,000 เทระเบ็กเคอเรล มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง
* (1 เบ็กเคอเรล (Becquerel, Bq) มีค่าเท่ากับการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีจำนวน 1 อะตอม ใน 1 วินาที)

from http://is.gd/IvVkKE


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)