29 พฤศจิกายน 2555

ให้อภัย ขอบคุณ ปลดล็อคความคิด สู่ชีวิตมั่งคั่ง


“ครอซ ครอสลี่ย์” (Croz Crossley) นักธุรกิจจากประเทศอังกฤษผู้ผ่านการล้มละลายมาแล้ว

อยากรวย อยากประสบความสำเร็จ อยากมีความสุข อยากหลุดพ้นจากทุกข์ ในศาสตร์แห่งความมั่งคั่งเชื่อว่าหนทางปลดล็อคชีวิตสู่ร่ำรวยคือ“ให้อภัย,"ขอบคุณ"

ในเวที "เศรษฐีสอนรวย Book On Stage" ที่จัดโดย "K SME ธนาคารกสิกรไทย" ร่วมกับ "เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง" ได้นำเหล่ามหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งและมีความสุข มาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

พวกเขา คือคนที่พลิกชีวิตด้วยหนังสือ “เศรษฐีสอนรวย” (The Science of Getting Rich : SOGR) ของ Wallance D. Wattles จนสามารถเปลี่ยนจากคนล้มละลาย จมอยู่กับทุกข์สาหัส มาประสบความสำเร็จอีกครั้งได้

“ครอซ ครอสลี่ย์” (Croz Crossley) คืออดีตนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากประเทศอังกฤษ

เขาร่ำรวยขึ้นมาจากการทำธุรกิจรักษาความปลอดภัย ลูกค้าก็คือบรรดาศิลปินผู้มีชื่อเสียง ธุรกิจไปได้ดี เขากับภรรยา จึงได้วางแผนที่จะเกษียณตัวเอง โดยยกธุรกิจให้คนอื่นดูแลแทน แล้วออกเดินทางไปเที่ยวรอบโลก

เขาฝากธุรกิจให้คนหนุ่มคนหนึ่งดูแล คนซึ่งเคยทำงานเป็นแค่พนักงานเปิด-ปิดสำนักงาน แต่ด้วยความตั้งใจและมีไฟ จึงได้รับการโปรโมทเป็น Operations Manager เมื่อคิดถึงคนที่จะมาดูแลธุรกิจแทน ก็ไม่พ้นผู้ชายคนนี้

“เขาเหมาะสมที่สุด เพราะรู้จักพนักงานของเราทุกคน รู้จักระบบที่เราใช้ เขาเป็นเพื่อนเรา และเขาก็เป็นคนดี”

“ครอซ” สรุปเหตุผลในการเลือกตัวแทนมาขับเคลื่อนธุรกิจ ก่อนยกกิจการและฝากความหวัง ให้กับชายที่เขาเลือก ซึ่งดูจะไม่ผิดหวังเมื่อธุรกิจในปีแรกเป็นไปตามที่คิด เขามีเงินเข้ามาในบัญชีทุกเดือน และสามารถเอาเวลาไปทำในสิ่งที่รักได้ ขึ้นปีที่ 2 จึงได้จัดงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ

ทว่า เพียง 10 วัน ให้หลัง ทุกอย่างก็ ดับสลาย

“10 วันหลังจากปาร์ตี้ ผมจำได้ดี ชีวิตพังทลาย ลูกค้ารายใหญ่เขียนจดหมายมาขอเปลี่ยนบริษัท ตามมาด้วยลูกค้ารายอื่นๆ ตอนนั้นผมแทบไม่เชื่อว่า ผู้ชายที่ผมไว้วางใจให้ดูแลธุรกิจ เขาจะไปตั้งบริษัทใหม่และแย่งลูกค้าของเราไปหมด”

ฝันของครอซล่มสลายชั่วข้ามคืน เขาในวัย 40 ปี กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีธุรกิจ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถต้องกลับไปทำงานที่ไม่ชอบอย่าง ร้านอาหาร หรือแม้แต่งานขายเสื้อยืดกลางตลาดนัด

“มันทรมานมาก และเป็นช่วงที่ผมต้องถ่อมตน จริงๆ”

ครอซ บอกความรู้สึก ก่อนที่จะเจอจุดเปลี่ยนในชีวิต เมื่อได้อ่านหนังสือ “SOGR” ศาสตร์ทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือ สอนให้เขาปรับเปลี่ยนความคิด และมองชีวิตใหม่ ตั้งสติกับชีวิต แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวเองขึ้นมา จนสามารถตั้งโรงงานผลิตสินค้าของตัวเอง มีธุรกิจใหม่ มีเงิน เรียกว่ากลับไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทว่าเขากลับ “ไม่มีความสุข”

“ลึกๆ แล้ว ผมไม่มีความสุขเลย เพราะทุกวัน มีแต่ความคิดอยากจะแก้แค้น ลากความคิดแบบนี้ไปกับผมด้วย พลังก็หมดไปเรื่อยๆ จนภรรยาบอกว่า ให้ผมปล่อยเขาไป ต้องให้อภัยเขา ผมบอกจะให้ทำอะไรก็ได้แต่ไม่มีทางให้อภัย จนภรรยาพูดแล้วพูดอีก สุดท้ายผมเลยโอเค ให้อภัยก็ได้ แต่ไม่ใช่แค่พูดนะ ผมเขียนจดหมายไปหาเขา สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่ผมเขียนจดหมาย ความหนักถูกปลดปล่อยไปเรื่อยๆ จนหย่อนจดหมายใส่ตู้ อะไรที่หนักๆ หลุดจากตัวผมไปหมด ผมรู้สึกถึงความปิติอย่างแท้จริง”

พลังจากการ “ให้อภัย” ไม่เพียงนำความสุขกลับมาในชีวิต แต่ยังทำให้เขามีพลังไปขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบใหญ่ขึ้นด้วย
ล้มละลาย ครอบครัวแตกแยก เป็นมะเร็ง และเคยพยายามฆ่าตัวตาย

นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ “ดร.วรัญญา สะอาดเอี่ยม ริเท็นนิส” อดีตหญิงเก่งที่เคยมีชีวิตสมบูรณ์แบบ จบ ดร.เป็นนักธุรกิจข้ามชาติ ได้ดูแลโครงการมูลค่าเป็นหมื่นล้าน ได้แต่งงานกับลูกชายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศในยุโรป พ่อของสามีเป็นถึงรัฐบุรุษ ช่วงชีวิตที่ทำให้เธอรู้สึก “ฟู” และผยองกับชีวิตอย่างเต็มที่

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หลังแต่งงานเพียงหนึ่งเดือน ธุรกิจ “ล่มสลาย” ทิ้งกองหนี้ไว้กว่า 100 ล้านบาท !

เธอต้องทำงาน 4-5 ที่ เพื่อใช้หนี้ ใช้หนี้แบบไม่มีสติ วิ่งตามเงินอย่างบ้าคลั่ง และคิดว่าเงินสำคัญที่สุด จนปีที่ 3 ครอบครัวก็ “แตกแยก” เธอต้องผ่านช่วงรันทดของชีวิต ขนาดที่ต้องไปอยู่ห้องเช่าเล็กๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์แม้แต่ชิ้นเดียว แม้แต่เตียงยังต้องขายทิ้ง หลายอย่างที่ประเดประดังเข้ามา

ทำให้สุดท้ายเธอตัดสินใจ..ฆ่าตัวตาย !

นับว่าโชคดีที่คุณหมอช่วยชีวิตไว้ได้ แต่เรื่องร้ายไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อ 4 ปี ก่อน เธอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งร้าย !

หลายคนอาจช็อคกับชีวิต แต่วรัญญา “ขอบคุณ” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ขอบคุณชีวิตที่ผ่านการล้มละลาย” เพราะทำให้ได้รู้ศักยภาพตัวเอง ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

“ขอบคุณการหย่าร้าง” ที่ทำให้ได้สามีคนใหม่ แต่เป็นผู้ชายคนเดิมซึ่งนิสัยดีกว่าเดิมกลับคืนมา

“ขอบคุณการฆ่าตัวตาย” ที่ทำให้เข้าใจว่า การให้อภัย สำคัญ ไม่เพียงให้อภัยผู้อื่นแต่เราต้องให้อภัยตัวเองด้วย

“ขอบคุณที่เป็นมะเร็ง” ในตอนที่ชีวิตผ่านเรื่องร้ายๆ มาหมดแล้ว ทำให้มีสติ และตั้งรับได้กับข่าวร้าย

“ตอนอยู่โรงพยาบาลเพราะกินน้ำยาล้างห้องน้ำฆ่าตัวตาย พูดไม่ได้หลายอาทิตย์ เหมือนชีวิตต้องการให้เราหยุด หยุดคือสติ คือปัจจุบัน ไม่มีเรื่องล้มละลาย พอผ่านมาแล้วทำไมรู้สึกดีขึ้น แสดงว่าจริงๆ แล้ว ปัญหาไม่มีอยู่จริง แต่เป็นอารมณ์ เป็นความคิดของเราทั้งนั้น ได้เห็นดวงอาทิตย์ สาดแสงไปกระทบน้ำทะเล มันสวยมาก เหมือนแผ่นทองเลย วันนั้นต่อให้มีเงินในกระเป๋าไม่เท่าไร

แต่เป็นวันแรกที่ได้รู้จักกับคำว่า มั่งคั่งร่ำรวย”

หลายอย่างกลับเข้ามาให้คิดทบทวน โดยมีศาสตร์แห่งความมั่งคั่งชี้นำทางชีวิต ศาสตร์ที่สอนเรื่อง พลังความคิด และแนวทางตายตัว ความกตัญญูที่สามารถทำให้เราทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะกตัญญูต่อประสบการณ์ของตัวเอง บทเรียนที่ทำให้รู้ว่า ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่า แม้มีเงินเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้ และนี่เองที่จะทำให้เราดึงพลังงานออกมาและเห็นโอกาสในทุกสิ่งอย่าง และทุกคนมีสิทธิมั่งคั่งร่ำรวยเฉกเช่นสิทธิที่จะหายใจ

“ตั้งแต่นั้น จึงเริ่มคิดธุรกิจใหม่ ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์มันจะมีพลังมาก ไม่ใช่แค่คิดแข่งขัน ที่มีแต่แพ้กับชนะ เลยตัดสินใจทำบริษัทร่วมลงทุน ให้กับรายเล็กรายน้อย (Venture international) คิดใหญ่ทั้งที่ไม่มีเงิน แต่เป็นวิธีคิดที่บอกว่า ถ้าเราต้องการเงิน เราต้องให้เงินคนอื่นก่อน เหมือนกับถ้าต้องการความสุข ก็ให้ความสุขคนอื่น ถ้าต้องการความรัก ก็ให้ความรักกับผู้อื่น ซึ่งการให้ด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์ จะมีพลังมาก แล้วคนจะเข้ามาช่วยเราเต็มไปหมด”

บริษัทที่หาเงินทุนให้กับผู้มีฝัน เธอเรียกว่า “อาชีพสานฝัน” ลูกค้าคนแรก คือวิศวกรที่พิการจากอุบัติเหตุ กับเงินก้อนแรกที่ 2.5 แสนเหรียญ ในวันนั้นเธอทำงานด้วยใจอยากช่วย เชื่อ และศรัทธา เลยเดินเข้าไปคุยกับนายทุนซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ใช้เวลาไม่ถึง 40 นาที เธอก็ได้เงินก้อนแรกมาเดินหน้าธุรกิจ

“ทุกวันนี้ก็ยังทำดีลเล็กดีลน้อยของเราไป ไม่เคยที่จะหยุดทำแม้แต่นาทีเดียว แต่ก็ไม่เคยเหนื่อย เพราะไม่ได้วิ่งตามเงินอีกแล้ว แต่ตั้งค่าของใจให้ถูกที่ แทนที่จะตั้งค่าของใจไปแข่งขันเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา จมอยู่กับทุกข์กับปัญหา ก็มาตั้งค่าให้ใจใหม่ด้วยการ..ขอบคุณ”

ขอบคุณกับทุกเรื่องร้ายที่เขามา และประสบการณ์สุดสาหัส ที่ทำให้เห็นโอกาสใหม่ในชีวิตอย่างวันนี้


from www.bangkokbiznews.com


18 พฤศจิกายน 2555

ข้อคิดสำหรับการออมเพื่อเกษียณ


การออมเพื่อการเกษียณอายุงานของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เดิมในปี 2444 ที่มีเฉพาะข้าราชการเท่านั้นที่จะมีเงินบำเหน็จบำนาญ


หลังเกษียณ สำหรับภาคเอกชนนั้น เริ่มเมื่อมีบริษัทต่างชาติมาตั้งในไทย และบริษัทเหล่านี้ได้มีสวัสดิการด้านสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน โดยเป็นเงินที่บริษัทสมทบให้เมื่อยามเกษียณ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการออมเพื่อการเกษียณอายุงาน เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2530 โดยเป็นภาคสมัครใจ ต้องมีทั้งนายจ้างและลูกจ้างสมัครใจจัดตั้งขึ้น โดยลูกจ้างจะนำส่งเงินสะสม และนายจ้างนำส่งเงินสมทบ โดยรัฐให้แรงจูงใจในด้านภาษี


ส่วนข้าราชการก็มีการพัฒนามาเป็น “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา


สำหรับผู้ต้องการออมเพิ่มเติมจากที่ออมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีการให้ออมเพิ่มได้โดยผ่าน “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” หรือ RMF ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา หรือ 100 ปีหลังจากมีระบบเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ


วันนี้ดิฉันขอเขียนถึงประเด็นต่างๆที่ชวนคิดพิจารณา สำหรับท่านที่ต้องการออมเพื่อมีเงินใช้หลังการเกษียณอายุงาน


ประเด็นแรกที่พบมากคือ ผู้ออมจำนวนมาก ออมเพียงจำนวนเท่าที่กรมสรรพากรให้สิทธิพิเศษทางภาษีไว้ หรือพูดง่ายๆก็คือ ตั้งแต่ 2% ถึง 15% ของรายได้ต่อปี คงเดาได้นะคะว่า เนื่องจากต้องการเพียงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อถามว่า คาดว่าจะเพียงพอที่จะใช้หลังเกษียณหรือไม่ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะตอบว่าไม่ทราบ


การที่ท่านไม่ทราบว่าอนาคตท่านจะมีเงินเพียงพอเพื่อจะใช้หลังการเกษียณหรือไม่ เท่ากับท่านเอาอนาคตไปแขวนไว้กับโชคชะตา และอาจจะกลายเป็นว่า ถ้าอายุสั้นจะถือเป็นการโชคดีไป เพราะมีเงินพอใช้แน่ๆ แต่หากเกิดอายุยืนขึ้นมาจะถือเป็นความโชคร้ายทีเดียว เพราะไม่มีเงินเลี้ยงตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องเศร้าค่ะ


การมีอายุยืน สามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ถือเป็นเรื่องดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าท่านมีเงินเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง


ข้อแนะนำคือ ต้องประมาณการว่า หลังเกษียณ ท่านจะใช้เงินเดือนละเท่าไรจึงจะพอ คิดเป็นค่าเงินปัจจุบัน นี่แหละค่ะ จะได้ง่ายๆ และนำไปคำนวณว่า นับจากวันที่เกษียณท่านจะอยู่ไปอีกกี่ปี หากจะใช้เงินเดือนละเท่านั้น ต้องมีเงินเท่าไร ณ วันเกษียณ และคำนวณว่า เงินที่เก็บออมอยู่ทุกวันนี้ เมื่อถึงวันที่เกษียณจะเติบโตไปเป็นจำนวนเท่าใด และนำตัวเลขสองจำนวนนี้มาเปรียบเทียบกันว่าจะพอหรือไม่ (ตารางการคำนวณแบบง่ายๆ อยู่ในหนังสือ” Money Pro แผนการเงิน แผนชีวิต”)





ประเด็นที่สอง ผู้ออมเงินเพื่อการเกษียณเกินกว่าครึ่ง นำเงินออมไปลงทุนแบบอนุรักษนิยม โดยอาจจะฝากไว้ในธนาคาร ซื้อสลากออมสิน ลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ หรือเลือกลงทุนในกองทุนตลาดเงิน กองทุนพันธบัตร กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งในปัจจุบันให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5 ถึง 4% แทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อเลย


นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนยังมักจะเป็นกองทุนแบบอนุรักษนิยม คือลงทุนในตราสารคล้ายๆกับที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าเกณฑ์ของกองทุนจะเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง ซึ่งสามารถเลือกให้มีหลักทรัพย์อื่น เช่น หุ้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนได้


หากเข้าใจเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการรับความเสี่ยงจะทราบว่า ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนยาว จะสามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เงินที่ออมเพื่อการเกษียณอายุงานในอีก 10 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า จึงเป็นเงินที่สามารถลงทุนแบบเสี่ยงปานกลางถึงเสี่ยงสูงได้


สัดส่วนของหุ้นทุนที่ควรจะลงทุนเพื่อการเกษียณ ควรจะมีขั้นต่ำ 10-15% โดยดิฉันและทีมงานได้เคยทดสอบข้อมูลย้อนหลังแล้วพบว่า ในสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตที่มีการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 15% ในระยะปานกลาง คือเกิน 3 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนจะไม่ติดลบค่ะ


เพราะฉะนั้น ผู้ลงทุนไม่ควรกลัวความเสี่ยงจนเกินไป


เป็นที่น่ายินดีว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำลังเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ได้ระบุว่าจะลงทุนในนโยบายใด จากแต่เดิมให้ลงนโยบายเดิมก่อนที่จะเปิดให้เลือกนโยบายได้เอง หรือหากไม่มีนโยบายเดิม ให้ลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปก็คือนโยบายที่ลงทุนแต่ตราสารหนี้และพันธบัตร เสนอแก้ไขใหม่ให้ลงทุนในนโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน และหากข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ จึงไปลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ตามลำดับ


ดิฉันยืนยันค่ะว่า นโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับการออมเพื่อการเกษียณอายุมากที่สุด คือการลงทุนแบบผสม ซึ่งจะมีทั้งตราสารหนี้ พันธบัตร และหุ้น (หรืออาจจะมีทองคำ โภคภัณฑ์ หรืออสังหาริมทรัพย์ปนไปบ้างเล็กน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด)


ดังนั้นจึงอยากเรียนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนทั้งหลายว่า เมื่อกฎหมายออกบังคับใช้ กรุณาเลือกนโยบายการลงทุนแบบผสมเป็นนโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน หรือที่เรียกว่าเป็น Default Policy นะคะ เพื่อมิให้สมาชิกกองทุนต้องลำบากต้องมีชีวิตบั้นปลายอยู่ต่อโดยเงินหมดไปก่อน


หากสมาชิกในกองทุนส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยสูง นโยบายที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนก็ควรจะเป็นกองทุนผสม ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นทุนเป็นสัดส่วนไม่สูงมาก คืออาจจะไม่เกิน 15%


แต่หากสมาชิกในกองทุนมีอายุเฉลี่ยน้อย นโยบายการลงทุนที่กำหนดในข้อบังคับ อาจกำหนดให้ลงทุนในหุ้นทุนเป็นสัดส่วนไม่เกิน 30% เป็นต้น


สำหรับผู้ออม ในกรณีมีนโยบายให้เลือกหลายนโยบาย ควรเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองค่ะ ไม่ต้องทำตามเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเลือกนโยบายที่มีความเสี่ยงต่ำลง หรือที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อหวังผลตอบแทนสูงขึ้นก็ตาม


นอกจากนี้ ยังต้องมองภาพรวมของการออมเพื่อการเกษียณอายุงาน ซึ่งรวมถึงส่วนที่ออมเพิ่มเองไม่ว่าจะในรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมทั่วไป หรือลงทุนเองโดยตรง ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมค่ะ


สองประเด็นแล้วนะคะ คือออมน้อยเกินไป และ ลงทุนแบบอนุรักษนิยมเกินไป ทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจเสี่ยงต่อการที่มีเงินไม่พอเลี้ยงตัวเองแล้ว แต่ถ้าทั้งออมน้อยและเลือกลงทุนแบบไม่ให้เสี่ยงเลย ก็จะยิ่งทำให้เงินเติบโตน้อย เสี่ยงต่อการมีไม่เพียงพอต่อการเกษียณอายุอย่างสุขสบายมากขึ้น


ประเด็นที่สาม คือ การรับเงินเงินงวดๆ ในลักษณะคล้ายเงินบำนาญ ในสมัยก่อนเราไม่สามารถทำได้เลย เมื่ออายุครบเกษียณ ก็ออกจากกองทุนไปพร้อมรับเงินก้อนทั้งหมด ซึ่งคนจำนวนมาก ไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน ไม่สามารถลงทุนเองได้ ทำให้เสียโอกาสในการลงทุนไป


ดิฉันจำได้ว่าเคยนำเสนอที่จะจัดการกองทุนหลังเกษียณให้กับ กบข.ไปเมื่อประมาณสิบปีก่อน และเสนอจะจ่ายคืนให้กับสมาชิกเป็นงวดๆ ให้เหมือนกับเงินบำนาญ


มาบัดนี้ การคงเงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ และให้สามารถรับเงินเป็นงวดๆ กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยจะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ผู้ออมสามารถแสดงเจตนาขอรับเงินเป็นงวดๆ ได้ แต่กำหนดว่าได้เฉพาะผู้ออมที่ออกจากงานโดยมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ผู้ที่เกษียณก่อนอายุ 55 ปีก็จะไม่มีสิทธิ์นี้ ซึ่งดิฉันเสียดาย


การขอรับเงินเป็นงวดๆ ควรจะทำได้แม้จะเกษียณก่อนอายุ 55 ปีก็ตาม เงินของเขา เขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะขอคืนในลักษณะไหน เข้าใจว่าการกำหนดอายุ 55 ปี อาจจะเป็นเพราะกลัวว่าผู้ออมจะออกจากงานตั้งแต่อายุน้อย แล้วขอรับเงินเร็ว เงินอาจจะหมดไปตอนอายุไม่มาก พอชราภาพจริงไม่มีเงิน ก็จะกลายเป็นภาระของรัฐไปอีก ถ้าห่วงเช่นนั้น ก็บังคับว่ากรณีขอรับเป็นงวด หากอายุไม่ถึง 55 ปี ให้จ่ายได้งวดละไม่เกิน 5% ของเงินทั้งหมด แต่หากอายุเกิน 55 ปี จะรับงวดละเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออม และเสนอว่าหากไม่ระบุว่าจะรับงวดละเท่าใด ให้จ่ายงวดละ 5% จนกว่าผู้ออมจะแจ้งเปลี่ยนเป็นอื่น


จ่ายปีละ 5% โดยมีสมมุติฐานว่า สำหรับคนทั่วไป หากเกษียณอายุ 60 ปี จะได้งวดเงินรวม 20 ปี ซึ่งน่าจะเป็นอายุเฉลี่ยของคนทั่วไปค่ะ


ปัจจุบัน การรับเงินงวดสามารถทำได้กับการประกันชีวิตแบบ annuity ซึ่งก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะให้มีการขายกรมธรรม์ประเภทนี้ได้ คนโสด หรือคนที่ไม่มีทายาท หรือคาดว่าจะไม่มีผู้ดูแล ในยามชราภาพ และไม่แน่ใจว่าเงินที่ออมอยู่จะพอสำหรับเลี้ยงตัวเองไปจนจากไปหรือไม่ ควรจะศึกษาการทำประกันชีวิตแบบนี้ค่ะ ตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่คาดว่าจะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น


สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหา จะมีปัญหาก็จะแตกต่างไปคือเป็นเรื่องของการส่งผ่านความมั่งคั่งไปยังรุ่นต่อๆ ไป


ข้อคิดประการที่สี่ คือ ความสามารถในการโอนย้ายกองทุนเพื่อการเกษียณอายุจากกองหนึ่งไปยังอีกกองหนึ่ง จะถือเป็นสุดยอดแห่งนโยบายการส่งเสริมให้คนออมเพื่อการเกษียณอายุงานเลยทีเดียว เช่น หากข้าราชการลาออกจากราชการไปทำงานเอกชน ย่อมอยากจะนำเงินที่ออมไว้ในกองทุน กบข.ไปออมต่อในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือในทางกลับกัน คนที่ทำงานภาคเอกชน หากต้องการย้ายเข้าไปในภาคราชการ ก็สามารถโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปออมต่อในกองทุนบำเหน็จบำนาญได้


นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เกษียณอายุงานก่อน หรือต้องออกจากงานด้วยเหตุอื่นใด ยังสามารถโอนย้ายจากกองทุน กบข.หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMFได้ ทำให้ไม่ต้องรับเงินที่ออมมาเป็นก้อนใหญ่เมื่อออกจากงาน ทั้งๆ ที่ยังอยากออมต่อ และยังถูกทำโทษให้เสียภาษีเงินได้จากเงินออมก้อนนั้นอีก


ณ ปัจจุบัน ระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุงานในประเทศไทยยังแยกเป็นส่วนๆ และยังไม่สามารถโอนย้ายได้ค่ะ แต่มีแนวคิดที่จะทำ ซึ่งดิฉันเห็นว่าไม่มีอะไรยากเกินกว่าความพยายาม หากได้ทุ่มเททรัพยากรลงไปเพียงพอ และทุกฝ่ายช่วยกันโดยมีจุดมุ่งหมายว่า ต้องการให้คนที่เกษียณอายุงานแล้วมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เราต้องเอื้อให้สามารถโอนย้ายได้ในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ


มิเช่นนั้น หากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีกในอนาคต ก็จะมีคนตกงานที่ได้เงินก้อนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่สามารถออมต่อเพื่อเอาไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิตโดยไม่ถูกทำโทษ และ ไม่เอื้อให้มีการย้ายงานจากภาคเอกชนไปอยู่ภาครัฐ ตามที่รัฐต้องการเห็น


ข้อคิดประการที่ห้า คือ ทำอย่างไรจะให้คนเข้าไปอยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุงานให้มากที่สุด ตอนนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น ผู้ทำการค้าประเภทพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย กลุ่มทำงานอิสระ ไม่สังกัดองค์กร เช่น สถาปนิก นักร้อง นักแสดง นักกีฬาอาชีพ ผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เช่น แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ เกษตรกร ฯลฯ ซึ่งรัฐเคยมีนโยบายให้แรงจูงใจในการออมในลักษณะกองทุนการออมแห่งชาติ เข้าใจว่าตอนนี้ยังทบทวนนโยบายอยู่


การดำเนินการในเรื่องการออมเพื่อการเกษียณอายุนี้ ประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินการในรูปของ Defined Contribution คือ มีการออมและมีการให้เงินสมทบไม่ว่าจะจากนายจ้าง หรือจากรัฐ โดยเงินออมและเงินสมทบจะถูกนำไปลงทุนโดยผู้ออมต้องรับความเสี่ยงเอง การที่จะรับประกันว่าผู้ออมจะต้องได้ผลตอบแทนแน่นอนในอัตราเท่าใด ซึ่งเปรียบเสมือนการประกันจำนวนเงินที่จะได้ เหมือนระบบบำนาญในสมัยก่อนนั้น ซึ่งประเทศส่วนใหญ่กำลังทยอยเลิก เพราะเป็นภาระของรัฐมากเกินไป และผู้ออมไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง และอาจใช้ชีวิตด้วยความประมาทด้วย


ในเรื่องการลงทุน ต้องให้เรียนรู้ด้วยตัวเองจึงจะเก่ง เมื่อเก่งแล้วก็สามารถดูแลตัวเองให้อยู่รอดได้ ต้องเชื่อในความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ค่ะ


หวังว่าบทความทั้งสองตอนนี้จะช่วยจุดประกายให้ท่านผู้อ่านปรับปรุงการออมเพื่อการเกษียณอายุงานของท่านและของคนรอบข้างให้ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อความสุขสบายหลังเกษียณค่ะ


from
http://goo.gl/UHy4
http://goo.gl/Z9O6x


บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)