Pages

Pages

06 ธันวาคม 2558

“อีกไม่เกิน 15 ปีระบบผลิตไฟฟ้าและการขนส่งในปัจจุบันจะเจ๊ง” นักวิชาการ U. Stanford

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบสาระโดยย่อของบทความนี้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าควรจะอ่านต่อไปหรือไม่ ผมขอนำเสนอด้วยแผ่นสไลด์เพื่อเป็นบทสรุปด้วยปกหนังสือเล่มหนึ่ง ดังภาพครับ 




ผมเองยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ผมได้ฟังการบรรยายของผู้เขียน (Tony Seba) ซึ่งได้รับเชิญจากองค์กรต่างๆ จากหลายทวีปมาหลายรอบแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับผู้เขียน และอยากให้สังคมไทยได้ศึกษาและจริงจังกับเรื่องนี้ให้มากๆ

แต่ในขณะที่ชาวโลกกำลังประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องความเป็นความตายและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชาวโลก แต่ดูเหมือนว่าทางราชการของประเทศไทยเรา รวมทั้งสื่อกระแสหลักไม่ได้ใช้โอกาสนี้เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวเองอย่างเอาจริงเอาจังเท่าที่ควรสื่อหลายรายการที่เป็นการพูดคุยถกเถียงแทนที่จะยกเอาเรื่องโลกร้อนมาพูดคุยกันในโอกาสที่สำคัญนี้เพื่อให้เป็นกระแสสังคม แต่กลับนำเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าและสามารถรอเวลาอื่นได้มาพูดกัน สรุปแล้วก็คือการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อนนั่นเอง

ผมใช้คำว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับหนึ่งให้ความหมายว่า “ภาวะหรือเหตุการณ์ที่อยู่ในระยะต่อกันถือว่าเป็นตอนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพหรือความคิดเป็นต้น เช่น วัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่” สิ่งที่ผมหมายถึงก็คือ เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่ “วัยรุ่น” หรือ โลก หรือ ประเทศ จะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างถาวร

หลายท่านอาจจะคิดว่า ผลการประชุมครั้งนี้อาจจะไม่มีอะไรต่างกับครั้งก่อนๆ คือไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่ครั้งนี้ผมมั่นใจว่าจะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาครับ เพราะถ้าไม่เอาจริงแล้ว ชาวโลกก็จะตายหมู่ด้วยภัยพิบัติและวิกฤตต่างๆ อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็เดินยุทธศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง คือรณรงค์ให้ถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นต้นเหตุของโลกร้อนอย่างได้ผลมากจริงๆ

กลับมาเน้นดูประเทศไทยเราครับ ผมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อเสนอของประเทศไทยไว้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า “เต็มไปด้วยกลลวงและหละหลวมมาก” กล่าวคือด้านหนึ่งไปนำเสนอแผนที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำจริงๆ และหลอกลวงชาวโลก แต่อีกด้านหนึ่งก็กำลังรณรงค์ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ และขนาดใหญ่มากคือ 2,200 เมกะวัตต์ (ซึ่งถือว่าเป็น Ultra Mage Power Plant) ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในช่วงใกล้ๆ นี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างไม่เกรงและอายต่อกระแสโลก

ที่สำคัญกว่านั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินได้กลายเป็นสิ่งที่ตกยุคไปแล้ว แต่ทางราชการไทยกำลังจะฝืนสร้างขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมากในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพียงเพื่อตอบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบางกลุ่มเท่านั้นเองโดยจะเป็นภาระกับสังคมไทยในอนาคต คล้ายๆ กับกรณีโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่สร้างเสร็จแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้

ผมจะลำดับเรื่องเทคโนโลยีและบูรณาการองค์ความรู้ที่ผมได้ศึกษามาก่อนกับเรื่องราวในหนังสือของ Tony Seba เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ



หนึ่ง บทสรุปในหนังสือของ Tony Seba

เขาได้กล่าวถึงเทคโนโลยี 8-10 ชนิดที่เรียกว่าเป็น “Disruptive Technology” ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่พลิกโครงสร้างธุรกิจ อุตสาหกรรมและสังคมในเวลาอันรวดเร็ว เทคโนโลยีเก่าจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งผมขอใช้คำว่าเป็น “เทคโนโลยีที่พลิกโฉมโลก” เทคโนโลยีดังกล่าวได้แก่ โซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนต เป็นต้น

รถม้าได้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ ฟิล์มถ่ายรูปโกดัก ได้ถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอล โทรศัพท์บ้านได้ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเราทั้งหลายต่างก็ทราบดีและยอมรับกันมาแล้ว แต่เมื่อมองไปข้างหน้า คุณ Tony Seba ได้สรุป ดังนี้

1. รถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มเบียดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปี 2017-2018

2. ภายในปี 2030 รถยนต์ใหม่ทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

3. น้ำมันจะตกยุคภายในปี 2030

4. ภายในปี 2030 ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์จะมีราคาที่เขาเรียกว่า “GOD Parity” (ราคาเทียบเท่ากับพระเจ้า) ซึ่งหมายถึง ต่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ มีค่าเท่ากับศูนย์ ก็ยังแพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพราะว่าต้นที่เกิดจากสายส่งและการบริการ (Transmission and Distribution)แพงกว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้บนหลังคา

จากการค้นคว้าของผมเองและเคยเขียนไปแล้วว่า ในปี 2015 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาใน 46 เมืองใหญ่ จาก 50 เมืองใหญ่ ผลตอบแทนจากการติดโซลาร์เซลล์สูงกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นี่แค่ปี 2015 เท่านั้นนะ แล้วในปี 2030 จะเกิดอะไรขึ้นในเมื่อต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ลดลงประมาณ 10% ต่อปี

ในประเทศไทยเราเอง ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาจะถูกไฟฟ้าจากสายส่ง การลงทุนติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายใน 7-8 ปี โดยไม่ต้องการช่วยเหลือจากรัฐ ขอเพียงอย่ากีดกันเท่านั้นเป็นพอ



สอง ด้านประสิทธิภาพพลังงานของเทคโนโลยี

เหตุผลสำคัญที่คุณ Seba ใช้ในการศึกษาก็คือประสิทธิภาพพลังงานในรถยนต์ที่เผาไหม้ภายใน พบว่าพลังงานประมาณ 80% ของพลังงานที่ใส่เข้าไปจะกลายไปเป็นความร้อนที่หม้อน้ำ (ซึ่งเราทราบกันดีแล้ว) ที่เหลืออีกประมาณ 20% เท่านั้นที่ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่ได้ แต่ในกรณีรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้มอเตอร์มันจะสลับกันครับ




ในกรณีการผลิตไฟฟ้าก็เช่นเดียว เทคโนโลยีที่มนุษย์ใช้กันอยู่นั้นได้สูญเปล่าในทันทีถึง 62% ตั้งแต่ต้มน้ำแล้ว (ดูภาพประกอบ) ยังไม่คิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่พืชใช้เทคโนโลยีสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นแบบเดียวกับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาตั้งนานแล้ว

มันช่างน่าหัวเราะเยอะเย้ยไหม กับมนุษย์ที่ชอบอ้างว่าตนฉลาดกว่าเผ่าพันธุ์อื่น?



สาม Tony Seba พยากรณ์อย่างไร?

ในการคาดหมายอนาคต นักวิชาการจะใช้ข้อมูลในอดีต แล้วพยากรณ์ไปข้างหน้า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลมากมายหลายแหล่ง แต่เพื่อให้กระชับผมขอยกข้อมูลจากกรมพลังงานของสหรัฐอเมริกามาอ้างแทน ดังสไลด์ข้างล่างซึ่งผมไม่ขอลงรายละเอียดให้ท่านที่ไม่ถนัดต้องปวดหัวเล่น




คุณ Seba ระบุว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นค่าแบตเตอร์รี่ ดังนั้น เมื่อราคาแบตเตอร์รี่ลดลงในอัตราขนาดนี้ ลองคิดดูว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าจะลดลงขนาดไหน ที่เห็นในกราฟราคาแบตเตอร์รี่ในปี 2014 เท่ากับ $300 ต่อกิโลวัตต์ (รถ 1 คันใช้ประมาณ 40-50 กิโลวัตต์) ในปี 2024 จะเหลือเพียง $100 ต่อกิโลวัตต์เท่านั้น

นอกจากนี้คุณ Seba ยังให้ข้อมูลว่า ในขณะที่รถยนต์ธรรมดาที่ใช้น้ำมันจะมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ถึงประมาณ 2 พันชิ้น ซึ่งทำให้สึกหรอและต้องซ่อมบ่อย แต่รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนดังกล่าวเพียง 18 ชิ้นเท่านั้น และในระยะทางที่เท่ากันราคาเชื้อเพลิงของรถยนต์ไฟฟ้าก็ถูกกว่าราคาน้ำมันหลายเท่าตัว

ที่สำคัญกว่านั้น ไฟฟ้าที่ใช้ในชาร์จรถยนต์มาจากโซลาร์เซลล์ผลิตเองจากหลังคาบ้าน


สี่ การคาดหมายของอดีตรัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดีอาระเบีย

นอกจากเหตุผลของคุณ Seba แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อปี 2000 หรือเมื่อ 15 ปีมาแล้ว เขาผู้นั้นคือ Ahmed Zaki Yamani ซึ่งเขาอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 ถึง 1986

ในช่วงกลุ่มประเทศโอเปกขึ้นราคาน้ำมันในปีเดียวถึง 4 เท่าในปี 2516 เขาก็อยู่ในอำนาจและกล่าวกันว่า เขาคือผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกในขณะนั้น เขากล่าวว่าอย่างนี้ครับ

“สามสิบปีจากนี้ไปจะมีน้ำมันเหลือเฟือแต่ไม่มีคนซื้อ 30 ปีจากนี้จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำมัน น้ำมันจะถูกเก็บเอาไว้ใต้ดิน ยุคหินสิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะเราขาดแคลนหิน และยุคน้ำมันจะสิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะเราขาดแคลนน้ำมัน (เขาหยุดพูดชั่วขณะพร้อมกับสั่นหัวแล้วพูดต่อไปว่า) ผมเป็นชาวซาอุฯ ผมรู้ว่าเราจะพบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในอนาคต”

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงจาก $140 ลงมาเหลือ $40 เหรียญในปัจจุบัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของความล้าสมัย ตกยุคของน้ำมันแล้วก็เป็นไปได้

งานเขียนของคุณ Tony Seba ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและท้าทายอีกเยอะครับ ผมจะค่อยๆ เขียนถึงในโอกาสต่อไป วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนครับเพราะผมอยู่ในระหว่างการเดินทางในเขตที่หาอินเทอร์เน็ตยาก จึงต้องรีบส่งบทความตามสัญญาใจของผมเองว่าจะเขียนทุกสัปดาห์


ที่มา http://goo.gl/vEenFV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น