10 มิถุนายน 2558

สารพัดวิธีฆ่าความคิดสร้างสรรค์

หนูดี วนิษา เจ้าของผลงานเขียนอัจฉริยะสร้างได้ นำเสนอเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริม กระตุ้นและรักษา 'ความคิดสร้างสรรค์'ทั้งในวัยเด็กและวัยทำงาน

ฟังก์ชันที่สุดเจ๋งของสมองฟังก์ชันหนึ่งก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งหากใครมีคนนั้นก็โชคดีมากๆ เพราะนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เรื่องการเรียน การทำงานได้แล้ว มันยังทำให้เรามีชีวิตส่วนตัวที่สนุก เป็นเอกลักษณ์ และไม่เหมือนใครได้อีกด้วย เรียกได้ว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์นี่ช่างมีชีวิตที่น่าอิจฉาจริงๆ

แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นสิ่งที่บอบบาง ถูกกระทบกระทั่งนิดหน่อยก็เสียชีวิตซะแล้ว และมีสารพัดวิธีที่เราจะฆ่าความคิดสร้างสรรค์ได้ตั้งแต่วัยเด็กวัยเรียน มาจนถึงวัยทำงานกันเลยทีเดียว บางทีเราพูดอะไรนิดเดียว หรือไม่ได้ตั้งใจหรอกแต่เผลอไปคอมเมนท์ผิด ความคิดสร้างสรรค์ของคนที่เราไป “เมนท์” เขาก็ดับสนิทลง

แล้วเราจะทำอย่างไร ทั้งในฐานะคนๆ หนึ่งที่อยากเป็นคนคิดสร้างสรรค์ได้เก่งกว่านี้อีกนิด ในฐานะพ่อแม่ที่อยากเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กสร้างสรรค์ที่ไม่ได้เพียงเรียนไปแกนๆ หรือสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ ในห้องเรียนหากเราเป็นครู หรือฟอร์มทีมงานที่คิดสร้างสรรค์เก่ง หากเราเป็นหัวหน้าทีมในองค์กรที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็น

สำหรับหนูดีเองตอนนี้เพิ่งเปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งใหม่ ชื่อโรงเรียนวนิษาสุขุมวิท อยู่ซอยสุขุมวิท 26 (Facebook : โรงเรียนวนิษา สุขุมวิท 26) ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนเดิมคือ ที่ใหม่นี้มีแต่ชั้นอนุบาลเริ่มตั้งแต่หนึ่งขวบครึ่งในชั้น “น้องเบบี๋” กันเลยทีเดียวนับเป็นโชคดีของหนูดีและเด็กๆ เพราะเรามาเจอกันตั้งแต่ช่วงที่เขากำลังฟอร์มกระบวนการคิด ฟอร์มนิสัย ฟอร์มสมอง เพราะวัยก่อนสามขวบนี้เป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาและขยายกิ่งก้านสาขาสูงที่สุดในชีวิต

ดังนั้น การสอนเด็กในช่วงนี้สำคัญมากๆ เพราะสิ่งที่เขาเรียนรู้จะติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต สำหรับหลักสูตรโรงเรียนของหนูดีนั้นเน้น “ความคิดสร้างสรรค์” ไปพร้อมๆ กับความฉลาดทุกด้าน เพราะฉลาดแต่ไม่สร้างสรรค์ก็เป็นความฉลาดเพียงในกรอบที่ใครๆ ที่ท่องจำได้ก็ทำได้ทั้งนั้น

วิธีการที่สำคัญวิธีหนึ่งในวัยเบบี๋ก็คือ การสอนแบบ “ไม่มีคำว่าผิดว่าถูก" เวลาที่เด็กๆ เรียนรู้ในวิชาที่การผิดถูกไม่สำคัญ เช่น ศิลปะ หรือ Creative Play เราจะสอนเด็กเสมอว่า ระบายสีใบไม้ไม่ต้องสีเขียวก็ได้ ท้องฟ้าไม่ต้องสีฟ้าเสมอไปหรอก ฯลฯ เพราะหลายครั้งเด็กจะกลัวถูกดุถ้าไม่เหมือนของจริง แต่เราลองถามตัวเองจริงๆ สิคะ มันต้องเหมือนเสมอไปหรือหากมันไม่ใช่คณิตศาสตร์ หรือเคมี ฟิสิกส์ที่ต้องคำนวณลงตัวเป๊ะๆ

นวัตกรรมเปลี่ยนโลกหลายชิ้น ทั้งรถยนต์หรือสมาร์ทโฟนยี่ห้อที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่ก็เริ่มต้นมาจากการมองสิ่งที่เราใช้และจินตนาการถึงสิ่งใหม่ที่ยังไม่มี โดยไม่ต้องกังวลถึง “ผิดถูก” ในขั้นต้นกันทั้งนั้น เหมือนที่ Henry Ford พูดไว้ตอนคิดสร้างรถยนต์ว่า “If I had asked people what they wanted, they would have said faster horses.” (ถ้าฉันถามคนว่าเขาต้องการอะไร เขา
คงบอกว่า ม้าที่วิ่งเร็วขึ้น) แล้วพวกเราจะมีรถยนต์กันไหมละนี่

หรือสำหรับสมาร์ทโฟนยี่ห้อที่หนูดีใช้ ผู้คิดค้นก็บอกว่า เขาจะทำการสอบถามลูกค้าได้อย่างไรว่า ถ้าเขาผลิตสิ่งนี้ออกมาแล้วจะซื้อไหม เพราะสินค้าประเภทนี้ยังไม่เคยมีใครทำขายในโลกนี้เลย เขาก็ทำได้เพียงลองผลิตมันออกมา และมันก็ได้กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกไปในที่สุดการคิด “ผิดถูก” จะสำคัญเมื่อก้าวเข้าสู่กระบวนการถัดๆ ไปเท่านั้น ในตอนต้นเราต้องเปิดเวทีโล่งกว้างสำหรับสมองก่อน
เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทดลองทำโดยไม่ถูกตัดสินตั้งแต่ต้นมือว่า ทำแบบนี้ “ผิด” (ยกเว้นเรื่องวินัยและเรื่องคำนวณนะคะ ซึ่งคำว่าถูกผิดนั้นมีข้อกำหนดชัดเจน เราต้องแยกให้ออกระหว่าง “วินัย”กับ “ความคิดสร้างสรรค์” ว่า มันคือคนละเรื่องกัน การไร้วินัยยิ่งทำให้คิดสร้างสรรค์ไม่ได้ขึ้นไปใหญ่) เด็กก็จะกล้าคิด กล้าลองและกล้าเสี่ยง พอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ นิสัยกล้าคิดกล้าต่างนี้จะติดตัวเขาไปในทุกๆ ที่ และเมื่อเข้ามาอยู่ในโลกของการทำงาน เวลาที่เราต้องประชุมเพื่อระดมสมอง ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไอเดียต่างๆ ทั้งดีไม่ดี ทำได้ไม่ได้นั้นควรต้องถูกโยนลงมากลางโต๊ะทั้งหมดและจดบันทึกขึ้นไวท์บอร์ดไว้ เพราะในช่วงการระดมสมองนี้เป็นขั้นตอนที่การคิดสร้างสรรค์ควรจะกระฉูดที่สุด

การฆ่าความคิดใดๆ ก็ตามในตอนนี้ จะเป็นการ “ฆ่าตัดตอน” ความคิดอื่นๆ ที่จะตามมา และการพูดถึง “ข้อจำกัด” ต่างๆ ในตอนนี้ก็ยังไม่จำเป็น เพราะไอเดียทั้งหมดที่ระดมมาได้ จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการถัดไป คือ การวิเคราะห์และประเมินในโลกแห่งความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งด้านเวลาและทรัพยากร รวมถึงกำลังคนด้วย ดังนั้น การกล้าคิดอะไร
ใหม่ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าความคิดนั้นจะผิดหรือถูกเป็นขั้นตอนแรกของความคิดสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมากๆค่ะ

หนูดีเองพบว่า นี่เป็นข้อจำกัดของตัวเองที่ต้องก้าวผ่านมากๆ เพราะในอดีตเวลาหนูดีนำประชุม หากใครเสนอไอเดียที่ไม่ค่อยโอเคมา เราจะคิดเร็วมากและบอกไปเลยว่าทำไม่ได้หรอก แต่พอฝึกเลิกตัดสินคนเร็วเกินไป เราจดไอเดียของทุกคนไว้ก่อนแล้วนำมาโหวตกันอีกครั้งก็พบว่า หลายๆ ไอเดียที่หนูดีแอบประเมินไปแล้วว่าทำไม่ได้จริง กลับกลายเป็นว่าชนะโหวตและนำมาแก้ปัญหาในองค์กรได้อย่างจริงจังมาก ทำเอาตอนหลังเลิกนิสัยสรุปก่อนทดลองทำ และทำให้ได้ไอเดียเจ๋งๆ จากทีมเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

อีกสิ่งที่สำคัญคือ “ความหลากหลายของคนในทีม” หากเรามีคนที่แตกต่างกันเยอะมากๆ ทั้งพื้นฐานการศึกษา ความเชี่ยวชาญมุมมอง ความชอบ ความคิดเห็น เราจะพบว่าความคิดสร้างสรรค์จะขยายตัวได้ดีมากเพราะทุกคนมีมุมมองคนละมุมมาแชร์การคิดจะแตกสายได้มากมายเหมือนแม่น้ำหลายๆ สายที่มีต้นกำเนิดอันเดียว สำคัญคือเราต้องยอมรับและนับถือตัวตนที่แตกต่างของกันและกันได้โดยไม่ตัดสิน เริ่มจากวัยเล็กที่เราสอนให้เด็กรับฟังเพื่อนที่คิดต่างและชื่นชมซึ่งกันและกันจะเห็นว่า หนูดีโยงกลับไปวัยเด็กเสมอเพราะสมองที่ดีต้องเริ่มที่วัยเด็กเป็นหลัก แต่ในวัยผู้ใหญ่หากเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ความคิดสร้างสรรค์ก็เติบโตได้เช่นกัน

มาคิดสร้างสรรค์กันนะคะ ฟังก์ชันนี้ของสมองนั้นเจ๋งจริงๆค่ะ

.....บทความเรื่อง สารพัดวิธีฆ่าความคิดสร้างสรรค์ โดย วนิษา เรซ เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจกายใจ ฉบับวันอาทิตย์ 7 มิถุนายน 2558



ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/650526

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)