14 กันยายน 2559

มองอนาคต ร้านสะดวกซื้อ

ร้านสะดวกซื้อจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจากสถานที่ขาย สินค้า (Goods) ไปเป็นสถานที่ขาย บริการ (Services)

ถ้าพูดถึงเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย น่าจะเห็นตรงกันว่า คือร้านเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ที่พบเห็นได้ทั่วไปริมถนน พื้นที่ชุมชน ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งสาขาแบบสแตนอโลนตั้งอยู่โดดๆพร้อมที่จอดรถ โดยมีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้บริหารแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย 

แม้จะมีธุรกิจในส่วนของบริษัทลูกด้วย เช่น ถือหุ้นใหญ่บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) แต่ 80% ของกำไร(earning before tax)ก็ยังมาจากธุรกิจของ CPALL เดิมเป็นหลัก อันได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น, ร้านขายยา Xta , คัดสรรเบเกอรี่ Cudson, ผู้ผลิตอาหารถาดฟรีซ7 Fresh, และ กำลังเปิดแนวรบใหม่ด้านกาแฟสดในชื่อ ร้านกาแฟมวลชน 

ที่ผ่านมาการเติบโตหลัก (Growth Story) ที่ทำให้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นขยายสาขาได้เรื่อยๆ ไม่ได้มาจากมูลค่าตลาดค้าปลีกไทยที่เติบโตขึ้น แต่ เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่กำลังเปลี่ยน "สถานที่" ช้อปปิ้งซึ้อของ โดยย้ายจากโชห่วยดั้งเดิม มาเป็นร้านสะดวกซื้อ ที่สะดวก สว่าง เย็นสบายตั้งราคามาตรฐานทั่วประเทศและมีพัฒนาการเป็นร้านอิ่มสะดวกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 

ในระหว่างเส้นทางธุรกิจตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเซเว่นอีเลฟเว่นไม่ได้เป็นเครือข่ายรายหลักในตลาดค้าปลีกไทยได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่กิจการได้ฝ่าฟันสารพัดอุปสรรค และคู่แข่งอย่าง AM-PM, จิฟฟี่(Jiffy), แฟมิลี่มาร์ท(Family Mart), 108ลอว์สัน, และอีกสารพัดร้านสะดวกซื้อใน format ใกล้ๆกัน กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่การขยายสาขาครอบคลุม และทิ้งห่างอันดับ 2-3 อย่างมากวันที่ยึดกุมทำเลหัวถนน ปากซอย ตึกแถวหัวมุม เกือบทุกชุมชนทั่วประเทศทั้งหมดที่เราเห็นวันนี้ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ใช้เวลามากกว่า15ปีในการก่อร่างสร้างอาณาจักร 

จำนวนสาขาที่มีล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 59 มีทั้งสิ้น 9,252 สาขา ซึ่งปกติใช้พนักงาน 3 คนต่อกะ และใช้คน ประจำร้าน ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้คนหมุนเวียนต่อวันมากกว่า85,000คน!!! :ซึ่งยังไม่นับรวมคนทำลอจิสติกส์ (Logistics), คนคุมคุณภาพอาหารสดที่วิ่งทุกร้าน ทุกวันทั่วประเทศ , คนเก็บ/เติมเงินสด ฯลฯ รวมกันแล้ว ต้องใช้คนต่อวันเป็นแสนคน ... 

ถึงต้องมี 'สถาบันปัญญาภิวัฒน์' เพื่อเป็นแหล่งสร้างคน ให้ทำงานและสร้างงานต่อ 

เอาหละ นั่นก็เป็นอดีตที่นำพานักลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ได้รับกำไรเป็นกอบเป็นกำกันมา ทุกวันนี้ คำถามมากมาย อยากรู้ว่าวันนี้ ธุรกิจนี้ยังคงน่าสนใจหรือไม่ ยังเติบโตได้อีกหรือไม่และมันจะโตต่อไปได้ด้วยอะไร ? เป็นสเกลที่ใหญ่แค่ไหน ? 

ถ้าเราไปดูโอกาสในโครงการใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่แจ้งแผนให้นักลงทุนทราบ ก็มักจะมีประมาณว่า จะทำอีคอมเมิร์ซ หรือจะเข้าสู่ธุรกิจสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม แต่โดยส่วนตัว ก็ยังอยากเห็นแหล่งรายได้ใหม่ๆที่มากกว่านี้ ชัดเจนกว่านี้อยู่ เลยลองไปดูกรณีศึกษาที่ญี่ปุ่น ที่นั่นจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อมากกว่าประเทศไทยอยู่มาก สิ่งที่พบก็คือ อนาคต... ร้านสะดวกซื้อจะปรับตัวเข้ากับ "ประชากร" ในประเทศ ... นั่นคือสังคมผู้สูงวัย 

ร้านสะดวกซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวมาขายสินค้าให้พี่ๆสูงวัยมากขึ้น และมากขึ้น เช่น 
->ขายสินค้าพร้อมจัดส่งถึงบ้าน พี่สูงวัยไม่จำเป็นต้องมาถึงร้านเพื่อหิ้วของกลับบ้านทุกวัน 
->ขายชุดข้าวกล่องเบนโตะเพื่อสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพอื่นๆแบบส่งดีลิเวอรี่ถึงบ้าน 
->มีพื้นที่ขายยาให้พี่สูงวัย 
->มีการจัดมุมดูแลให้คำปรึกษาแก่พี่สูงวัย มีเก้าอี้ให้นั่ง และในที่สุดกลายเป็นจุดนัดพบไปเลย บางสาขาที่มีพื้นที่เลยจัดกล่องคาราโอเกะเข้าไปด้วย . 

สิ่งเหล่านี้แม้จะยังมาไม่ถึงประเทศไทยก็จริง แต่หลายโมเดลธุรกิจก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดในไทย เพราะเราเคยได้ยินการขาย 'บริการ' ซักรีด, ส่งของ, จ่ายเงินชำระเงิน ฯลฯ ที่ร้านสะดวกซื้อของไทยบ้างแล้ว 

ร้านสะดวกซื้อจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจากสถานที่ขาย "สินค้า(Goods)" ไปเป็นสถานที่ขาย บริการ(Services) ซึ่งถ้าทำได้ นี่คือ ธุรกิจใหม่ ที่เกาะกระแสเทรนด์พร้อมกัน 2 เทรนด์ใหญ่คือ สังคมสูงวัย (Aging Society) และ ความเป็นเมือง (Urbanization) 

หากทำได้จริง ก็จะถือเป็น Growth Story ใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638814


13 กันยายน 2559

อาชีพที่จะหายไปและอาชีพในอนาคต

พัฒนาการทางเทคโนโลยีและกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแแปลงในอาชีพ (Jobs) ต่างๆ



หลายอาชีพที่อยู่ในปัจจุบันกำลังจะหมดความสำคัญและสูญหายไป ขณะเดียวกันเราก็จะเริ่มด้เห็นอาชีพใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมา ที่ในอดีตไม่เคยได้ยินหรือนึกฝันมาก่อน ดังนั้นจึงมีคำถามสำคัญว่าการพัฒนาเด็กในปัจจุบัน เราได้เตรียมพร้อมอนาคตของชาติสำหรับสำหรับวิชาชีพใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือยัง?

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนนะครับว่ากำลังมีอาชีพอะไรบ้างที่กำลังหดตัวและอาจจะสูญหายไปในอนาคต แต่ต้องขอใช้ตัวอย่างจากอเมริกานะครับ เพราะเขามีการเก็บสถิติไว้อย่างเป็นทางการครับ ตัวอย่างของอาชีพที่กำลังหดตัวในอเมริกา ได้แก่ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ (เนื่องจากหนังสือพิมพ์ได้ปิดตัวเองลงไปมากขึ้น) พนักงานคิดเงินในร้านค้าปลีก (เนื่องจากเริ่มเป็นการใช้เครื่อง self-checkout มากขึ้น) เอเย่นต์ท่องเที่ยว (ปัจจุบันมีเว็บมากมายที่ทำหน้าที่ทดแทนได้) นักบิน (ปัจจุบันมีการใช้โหมด auto-pilot กันมากข้ึน และ Artificial Intelligence ก็จะลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของมนุษย์ได้) พนักงาน Tellers ในธนาคาร (เนื่องจากการทำธุรกรรมกับธนาคารเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติหมด) พนักงานบัญชี (เมื่อมีซอฟแวร์บัญชีที่มาทดแทนได้) ฯลฯ

มีการศึกษาโดย Bank of America ที่ระบุว่าภายในปี 2025 หุ่นยนต์จะทำงานร้อยละ 45 ในโรงงาน ซึ่งเทียบกับปัจจุบันที่หุ่นยนต์ทำงานเพียงแค่ร้อยละ 10 และจากรายงานของมหาวิทยาลัย Oxford แจ้งว่าในปี 2025 เกือบครึ่งของงานในอเมริกาจะมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์

แสดงว่ายิ่งเทคโนโลยีทางด้าน AI ด้าน Machine Learning ด้านหุ่นยนต์พัฒนามากขึ้นเท่าใด พนักงานที่ทำงานประจำในลักษณะของ routine ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรกลหรือหุ่นยนต์มากขึ้น ดังนั้นท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าในงานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบัน ในอนาคตไม่ไกลนั้นหุ่นยนต์จะสามารถทำแทนท่านและทำได้ดีกว่าท่านหรือไม่?

มีรายงานที่เผยแพร่ในการประชุมที่ World Economic Forum ว่า จะมีคนตกงานกว่า 7.1 ล้านคน ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันร้อยละ 65 ของเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาในปัจจุบัน เมื่อโตไปจะทำงานในอาชีพที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ในปัจจุบันคือการเตรียมพร้อมเด็กรุ่นใหม่ให้มีความรู้และทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่ออาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คงจะยากที่จะพยากรณ์ได้ว่าอาชีพใหม่ๆ ที่จะมีในอนาคต (ที่ยังไม่มีในปัจจุบัน) คืออะไรบ้าง แต่เราสามารถดูได้จากอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ในอดีตไม่เคยปรากฎมาก่อนมีอะไรบ้าง ก็คงพอจะทำให้เห็นภาพบ้างนะครับ ถ้าเริ่มจากที่เราพอจะคุ้นๆ กันอยู่ก็อาทิเช่น Social media executive หรือ Data Mining expert หรือ Freelancing หรือ Corporate Entrepreneur หรือ Sustainability expert หรือ Cloud computing professional หรือ Inforgraphic designers เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เน้นเทคโนโลยี และจะเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ก็ได้แก่ Cognitive computer engineer หรือ Machine learning specialist หรือ Blockchain engineer หรือ Virtual reality engineer หรือ Internet of things architect เป็นต้น

ดังนั้นเด็กยุคใหม่เมื่อก้าวสู่การทำงานในอนาคต ก็ย่อมต้องการทักษะที่ไม่เหมือนในอดีตนะครับ เรื่องของความรู้ในวิชาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือเด็กยุคใหม่จะต้องมีความสามารถในการทำงานที่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงที่ไม่ใช่งาน routine ท่ีหุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ ซึ่งงานที่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้นั้นก็มักจะหนีไม่พ้นงานที่ต้องอาศัยการคิดเป็นและคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมทั้งทักษะในด้าน Empathy ในการทำความเข้าใจต่อความต้องการและจิตใจของคนมากขึ้น คำถามคือปัจจุบันเราเตรียมตัวเด็กของเราให้พร้อมสำหรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคตหรือยัง?


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638904

09 กันยายน 2559

พร้อมเพย์ (PromptPay)




ทางเลือกใหม่ ที่ต่อยอดมากจากบริการโอนเงินเดิมที่มีอยู่

พร้อมเพย์ คือ ทางเลือกใหม่ ที่ต่อยอดมากจากบริการโอนเงินเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการโอนทาง Internet banking,Moblie banking หรือ ATM ที่พร้อมเปลี่ยนให้การรับและโอนเงินของคุณ สะดวก ว่องไว มั่นใจ ในความปลอดภัย และ ใช่เลย กับความประหยัด
ว่องไว
- เพียงลงทะเบียนพร้อมเพย์ ก็พร้อมรับเงินโอนได้ง่ายๆ
- แค่บอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
มั่นใจ
- ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
- ธนาคารดูแลลูกค้าเป็นปกติตามช่งทางที่เลือกใช้
- แบงค์ชาติตรวจสอบอยู่เสมอ
ใช่เลย
- คนโอนประหยัดค่าธรรม เนียมแบบสุดๆ
- โอนไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีไม่มีเงื่อนไข
- โอนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ช่วงมูลค่า                                  ค่าธรรมเนียม                                      
ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ           ฟรีทุกรายการ
5,000 – 30,000  บาท                 ไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ                 
30,000 – 100,000 บาท              ไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ
มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป           ไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ            
ศึกษารายระเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.epayment.go.th

Tech Startup ธุรกิจมาแรงของคนอยากรวย

ปัจจุบัน Startup ผุดขึ้นมาให้เห็นในวงการธุรกิจอย่างมากมายส่วนใหญ่เกิดจากการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

หรือเห็นโอกาสที่ยังไม่มีใครเคยเห็น เหมือนอย่าง Tech Startup ก็ถือเป็นหนึ่งใน Startup ยอดนิยมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นมาเพื่อตอบรับกระแสของโลกโดยส่วนใหญ่เปิดบริษัทจากคนเพียงไม่กี่คน วางแผนมาเพื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยสินค้าที่ทำออกมาคือซอฟท์แวร์หรือ แอพพลิเคชัน ที่มีการลงทุนไม่สูง และหากมีการวางแผนธุรกิจที่ดี มีไอเดีย สามารถสร้างผลงานให้คนใช้ได้ทั่วโลก ก็จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หลายคนคิดอยากก้าวเข้าสู่วงการนี้เพราะการขยายธุรกิจผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วทุกที่ทุกเวลา แถมหากพัฒนาแอพพลิเคชันออกมาแล้วได้รับความนิยม รายได้ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดในขณะที่รายจ่ายไม่ได้เพิ่มอะไรมากมาย
อย่าลืมว่าธุรกิจTech Startup เป็นธุรกิจที่ทำได้ไม่ยากนักและที่สำคัญเงินลงทุนไม่สูง ทำให้ความยั่งยืนก็อาจจะน้อยตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากTech Startup หลายรายเปิดตัวอย่างสวยงาม แต่สักพักต้องปิดตัวไปอย่างเงียบๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทุกราย เพราะก็มีอีกหลายรายที่ยังคงเติบโตได้ดีอย่างเช่นธุรกิจ FoodStory แอพพลิเคชันจัดการร้านอาหารที่สามารถคว้ารางวัลสุดยอด SME แห่งปี 2016 จากรายการเรียลลิตี้ธุรกิจชื่อดัง SME ตีแตก The Final 2016ที่ยังคงเติบโตอย่างยั่งยืนได้จนถึงปัจจุบัน
FoodStory เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา จากความคิดของสองเพื่อนสนิท ยิม ฐากูร ชาติสุทธิผล และแจ็คชวินศุภวงศ์ด้วยมิตรภาพความเป็นเพื่อนที่มีมากว่า15 ปีบวกกับความชอบและหลงใหลในการรับประทานอาหารเหมือนกัน และมักจะเกิดความหงุดหงิดเสมอเวลาเจอร้านอาหารที่อร่อยแต่กลับมีระบบบริหารจัดการร้านที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น พนักงานรับออเดอร์รายการอาหารด้วยการจดลงกระดาษความผิดพลาดในการสั่งอาหารของพนักงาน ความล่าช้าของขั้นตอนการเก็บเงิน เป็นต้น
เมื่อเจอปัญหาดังกล่าวว่า ทั้งสองคนคิดตรงกันว่าต้นเหตุปัญหาเกิดจากการที่ร้านอาหารยังใช้ระบบ Offline อยู่ ทั้งๆที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศก้าวเข้าสู่โลกของ Onlineแล้ว ทั้งคู่จึงคิดว่าต้องหาระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของร้านอาหารเพราะเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีแอพพลิเคชันไหนตอบโจทย์ความต้องการของร้านอาหารและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าโดยเฉพาะในเรื่องการแสดงความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการจริง เพราะแอพพลิเคชันส่วนใหญ่รองรับการให้บริการของโรงแรม รีสอร์ทแต่ในส่วนของร้านอาหารกลับไม่มีแอพพลิเคชันที่ช่วยทำให้เห็นภาพของร้านอาหารและการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการจริง
FoodStoryจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นแอพพลิเคชันที่จะช่วยทำให้ร้านอาหารเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นและลูกค้าเองก็สามารถหาร้านอาหารที่ตรงความต้องการได้อย่างเหมาะสม โดยมีแนวคิดในการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ความเป็น Tech Startup ที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับใครที่กำลังตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนี้
1. การผสมผสานอย่างลงตัวยิมเป็นเจ้าของธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับแอพพลิเคชัน ส่วนแจ็ค เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร การมาเจอกันของทั้งคู่เป็นการนำความถนัดของแต่ละคนมารวมกันบวกกับความชอบและความคิดอยากปฏิวัติวงการร้านอาหารเหมือนกันจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดธุรกิจนี้ขึ้นซึ่งถือเป็นข้อดีเพราะแต่ละคนสามารถเติมเต็มในส่วนที่ขาดของกันและกันได้
2. หาปัญหาให้เจอ Tech Startup ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นมาจากการมองเห็นปัญหารอบตัว สำหรับ FoodStoryก็เช่นกันยิมและแจ็คมองเห็นปัญหาของร้านอาหารจากมุมมองของตัวเองในการเป็นลูกค้า และเห็นโอกาสของธุรกิจร้านอาหารที่ยังคงเติบโตได้เมื่อปัญหาและโอกาสมาเจอกันในจังหวะที่เหมาะสม การสร้างแอพพลิเคชันFoodStoryที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต 

3. ออกแบบแอพพลิเคชันให้เป็นมิตรกับลูกค้า หัวใจสำคัญของธุรกิจ Tech Startup คือ การทำให้ลูกค้าเลือกใช้แอพพลิเคชันของเรา ดังนั้น FoodStory จึงมุ่งมั่นพัฒนาจนมีความพร้อมมากที่สุดแม้ในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นช่วงที่มีแต่รายจ่าย รายได้แทบไม่มี แต่เพื่อสิ่งที่ดีที่สุด FoodStoryก็อดทนรอเพื่อสร้างแอพพลิเคชัน 
ให้ใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้มากที่สุด 

4. มองว่าแอพพลิเคชันอื่นไม่ใช่คู่แข่งแต่เป็นส่วนเติมเต็มเพราะไม่ได้เก่งทุกอย่างแต่เลือกโฟกัสบางอย่าง แล้วมองหาเพื่อนที่ดีเพื่อช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตและสามารถตอบสนองธุรกิจร้านอาหารอย่างครบวงจรดังนั้นการจับมือกับแอพพลิเคชันพันธมิตร เช่น แอพพลิเคชันบริการส่งอาหารจึงช่วยอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่ต้องเสียเวลาพูดคุยกับลูกค้าทีละราย เพราะลูกค้าสามารถสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งจะเด้งเข้าระบบของร้านและการคำสั่งนี้จะถูกส่งต่อไปยังระบบบริการส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน เรียกได้ว่ารวดเร็วและเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายและแอพพลิเคชัน ช่วยจัดการระบบบัญชี เพื่อรองรับระบบหลังบ้านของร้านอาหาร จึงเป็นการเชื่อมโยงของพันธมิตร ที่นอกจากจะช่วยขยายฐานลูกค้าแล้ว ยังช่วยเติมเต็มตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบครัน
ทำธุรกิจ ต้องถึก ดื้อ แต่ไม่ด้าน ฟังความคิดเห็นของคนรอบข้างแล้วมาปรับใช้”หลักในการทำธุรกิจที่ยิม ฐากูร ฝากไว้สำหรับผู้ที่กำลังเข้าสู่วงการ Tech Startupเพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรมี คือ ความขยันและอดทน ยิ่งเวลาเจอปัญหาหรืออุปสรรค อย่าท้อแท้หรือถอยไปง่ายๆ ต้องดื้อในความคิดและมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำมันเป็นไปได้ แต่ความดื้อต้องมีขอบเขตที่เหมาะสม อย่าดื้อจนไม่รับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง ที่อาจมองเห็นจุดอ่อนหรือข้อด้อยของธุรกิจได้ดีกว่าที่เรามองเอง
เพราะธุรกิจ Tech Startupหรือ Startupส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกระแสของโลกในขณะนั้น ความอดทน รอคอย รักในสิ่งที่ทำของเจ้าของธุรกิจ รวมทั้งมุ่งมั่นตั้งใจสร้างธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและช่วยแก้ไขปัญหาของลูกค้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้แม้จะมีหลายคนเคยกล่าวไว้ว่า Startup ส่วนใหญ่มักจะร่วงก่อนรุ่งก็ตาม
ที่มาของภาพ : นิตยสาร Marketeer

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (All Time)